ลูกบ้านไหนเป็นหนูน้อยงอแง อาละวาด (Temper Tantrums) บ้างคะ? เด็กบ้านแอดมินร้องไห้งอแงประจำเลยค่ะ แต่วันนี้แม่แอดมินรับมือได้แล้ว เลยมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันค่ะ
การร้องอาละวาดเป็นพัฒนาการปกติที่เด็กกำลังเรียนรู้การควบคุมตนเอง เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 1-3 ปี พบร้อยละ 50-80 มีการร้องอาละวาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงวัยนี้ และจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเมื่ออายุ 4 ปี
การร้องอาละวาด หมายถึง พฤติกรรมแสดงความไม่พอใจ เช่น การกรีดร้อง ตะโกน กระทืบเท้า นอนดิ้นกับพื้น ฟาดแขนขา จนถึงทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น เพื่อระบายความโกรธหรือความคับข้องใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ควบคุมได้ยากในเด็กเล็ก
มักเริ่มจากความโกรธ ไม่พอใจ ตามมาด้วยการร้องไห้รุนแรง ล้มตัวนอนกับพื้น ฟาดแขนขาไปมา อาจทำร้ายตนเองหรือคนอื่น บางคนร้องมากจนเกิดการร้องกลั้น (breath holding spell) ส่วนใหญ่การร้องอาละวาดใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที เนื่องจากการร้องอาละวาดอาจเป็นพัฒนาการปกติตามวัยหรือเป็นการร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา ผู้ปกครองควรทราบลักษณะของการอาละวาดที่เป็นปัญหา
1.พ่อแม่คิดว่าเป็นปัญหา หรือเกิดขึ้นบ่อยที่โรงเรียน
2.ร้องตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน แต่ละครั้งร้องนานเกิน 15 นาที
3.มีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาการนอน ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน
4.มีการทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นร่วมด้วย
การช่วยเหลือ การให้ความรู้กับพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ ควรอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจว่าการร้องอาละวาดเป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กวัยนี้ และจะหายไปหากได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการร้องอาละวาดควรแก้ไข เช่น เด็กพูดช้าควรส่งฝึกพูด มีภาวะหรือโรคทางกาย ก็ควรรักษาภาวะเหล่านั้น เป็นต้น
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรนิ่งสงบไม่ควรตะโกนหรือแสดงอาการโกรธให้เด็กเห็น จะยิ่งทำให้การร้องอาละวาดเป็นมากขึ้น
จากที่กล่าวมาจะพบว่าการร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรมีความรู้ความเข้าใจในการสังเกตลักษณะการร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขขณะที่เด็กอาละวาด หากเด็กได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมการร้องอาละวาดจะดีขึ้นจนค่อย ๆ หายไปได้
เอกสารอ้างอิง
1.วิรงรอง อรัญนารถ. ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กวัยแรเกิดถึง 3 ปี. ตำราพัฒนาการเด็กและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3, 2556 : 215-225