6 เทคนิค สอนลูกรู้จักรักษาของ
เมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม เด็กๆ จะต้องรู้ว่าสิ่งของต่างๆ รอบตัวไม่ได้มีแต่ของของเขา แต่ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่เป็นของสาธารณะ ซึ่งลูกต้องรู้จักใช้และรู้จักรักษาด้วย เพื่อคนอื่นจะใช้ร่วมกันได้
โดยเฉพาะเด็กวัย 1-3 ปี จะเริ่มรู้ว่าตนเองมีศักยภาพและสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างแล้ว แต่ยังไม่รู้ขอบเขตเมื่อเทียบกับเด็กที่โตกว่า ฉะนั้นพ่อแม่ต้องสอนลูกให้รู้คุณค่าสิ่งรอบตัวและเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อมกันด้วย เช่นถ้าพาลูกไปสนามเด็กเล่น เขาต้องรู้ว่าของที่เล่นนั้นเป็นของสาธารณะที่ให้ทุกคนใช้ร่วมกัน ไม่สามารถเล่นแรงๆ หรือทำให้เสียหายได้ เมื่อนำมาเล่นแล้วก็ต้องเก็บเข้าที่เพื่อคนอื่นจะได้เล่นต่อ เป็นต้น
ซึ่งพ่อแม่ต้องอธิบายเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ให้ลูกเข้าใจว่าของที่ลูกเล่นนั้นมีความสำคัญกับทุกคน เราจำเป็นต้องใช้อย่างทะนุถนอม เพื่อคนอื่นจะได้มาเล่น และลูกก็จะได้กลับมาเล่นอีกในครั้งต่อไป การสอนให้ลูกตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งรอบตัวยังช่วยสร้างจิตสาธารณะให้กับลูกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะตระหนักถึงผู้อื่นและเรียนรู้ได้เองว่าสิ่งของต่างๆ รอบตัวนั้นมีคุณค่าและกว่าจะได้มาก็ต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง
6 เทคนิค สอนลูกรู้คุณค่าสิ่งของ
1. ทำให้ลูกดู เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำได้มากกว่าคำพูด ฉะนั้นไม่ว่าพ่อแม่จะสอนเรื่องอะไรก็ตาม การทำให้ลูกดูย่อมได้ผลมากกว่า เช่น เมื่อล้างมือเสร็จแล้วเราต้องปิดน้ำทุกครั้ง แต่แม่เองกลับเปิดน้ำทิ้งไว้ เมื่อลูกเห็นเขาจะสับสนและอาจไม่เชื่อในสิ่งที่พ่อแม่บอกได้
2. สอนให้รู้เหตุผล แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก แต่การอธิบายเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ใกล้ตัวจะช่วยให้ลูกเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น ทำไมเราต้องใช้กระดาษชำระเท่าที่จะใช้ แม่อาจบอกลูกว่าเพราะเราไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อมาเล่น หรืออาจบอกว่ากระดาษทำมาจากต้นไม้ ถ้าใช้กระดาษหมดเร็วก็ต้องตัดต้นไม้มาทำกระดาษใช้ใหม่ จากนั้นตั้งคำถามให้ลูกได้คิดต่อว่าเขาชอบให้มีต้นไม้เยอะๆ หรือชอบแบบไม่มีต้นไม้ ซึ่งลูกจะเกิดการคิดเชื่อมโยงและสามารถเรียนรู้เรื่องคุณค่าของสิ่งรอบตัวได้
หรือการเล่นของเล่น เมื่อเล่นแล้วลูกต้องรู้จักเก็บ ถ้าเขาไม่เก็บของเล่นจะหายได้ แม้ลูกจะไม่เข้าใจว่าของหายคืออะไร แต่ถ้าแม่ทำให้หายไปเลย ลูกจะเข้าใจเรื่องคุณค่าของสิ่งของมากขึ้น เพราะสิ่งของบางอย่างก็ส่งผลต่อจิตใจของลูกเช่นกัน
3. ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ หลังจากอธิบายเหตุผลง่ายๆ กับลูกแล้ว เมื่อลูกทำได้พ่อแม่ต้องชื่นชมลูกด้วย เช่นเมื่อพาไปล้างมือแล้วแม่ปิดก๊อกน้ำไม่สนิท เมื่อลูกบอกหรือชี้ให้ดูก็สามารถชมลูกได้ว่า “หนูเก่งมากเลย ขอบคุณนะคะ หนูทำให้แม่ประหยัดน้ำไม่ไหลเปลือง” ซึ่งในครั้งต่อไปเขาก็จะพยายามปิดให้สนิท หรือบอกพ่อกับแม่ให้ช่วยปิดให้สนิท
4. สอนให้รู้คุณค่าจากการใช้งานจริง เด็กบางคนยังไม่รู้จักความสำคัญของสิ่งของ จึงไม่รู้ว่าของใช้แต่ละอย่างมีประโยชน์อย่างไร ฉะนั้นการบอกให้ลูกรู้ถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ จะช่วยให้ลูกรู้จักคุณค่าของสิ่งของได้ดี เช่นรองเท้า แม่อาจบอกลูกว่ารองเท้าช่วยให้เดินแล้วไม่เจ็บเท้า ช่วยกันไม่ให้โดนหินหรือหญ้าบาด ซึ่งก็ควรพูดในจังหวะที่ลูกใช้ของสิ่งนั้นๆ ด้วย แต่ไม่ต้องพูดตลอดเวลา
5. อย่าให้ของลูกง่ายเกินไป เพราะอะไรที่ได้มาง่ายๆ เด็กอาจไม่รู้คุณค่า ฉะนั้นของบางอย่างลูกต้องใช้ความพยายามในการได้มา เช่น ช่วยแม่เก็บของ ช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แล้วถึงจะได้ของเล่นที่อยากได้
6. สอนให้รู้จักลำดับความสำคัญ หากลูกอยากได้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้พ่อแม่เปรียบเทียบให้ลูกเห็นถึงความสำคัญ เช่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่นใหม่เกินความจำเป็น อาจบอกลูกว่า “เรามีเงินไม่พอ ถ้าเอาเงินไปซื้อรถหนูจะไม่มีข้าวกิน แต่ถ้าเอาเงินไปซื้อข้าวหนูอาจจะไม่มีรถเล่นแต่หนูก็ยังมีคันเก่าที่เล่นได้อยู่” เป็นต้น
บางครั้งการอธิบายเหตุผลให้ลูกวัย 1-3 ปี อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อย แต่ถ้าทำบ่อยๆ ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ลูกก็จะเข้าใจและตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งของรอบตัวได้เอง แถมยังต่อยอดไปถึงการเรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ และคุณค่าของคนที่อยู่รอบข้างในสังคมเดียวกันอีกด้วย