เรื่องราวความน่ากลัวของการติดเชื้อในกระแสเลือดครั้งนี้เป็นเรื่องของ
คุณแม่ส้ม และน้องหวานหวาน (
Noo Sompan) ที่อนุญาตให้ Momypedia นำเรื่องราวของน้องหวานหวานมานำเสนอ
คุณแม่ส้มเราให้ฟังว่าพาลูกไปโรงพยาบาลเพราะคิดว่าน้องเป็นหวัด เพราะน้ำมูกไหล ไอ ตัวร้อน เมื่อมาถึงโรงพยาบาลคุณหมอบอกว่าน้องหอบต้องพ่นยา พ่นยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นจึงได้นอนโรงพยาบาล หลังจากหมอตรวจคืนแรกบอกน้องปอดบวม นอนคืนแรกไม่มีไข้ แต่เช้ามามีไข้สูงถึง 41.8 องศาฯ เกือบชัก พอหมอบมาตรวจตอนสายบอกน้องปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
หลังจากตรวจเลือด ผลเลือดออกมาพบว่าน้องติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด คุณแม่ส้มได้เตือนแม่ๆ ว่าเด็กที่นอนห้องปรับอากาศ ห้องแอร์ หรือห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท เมื่อป่วย ร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายค่ะ
ทีมงาน Momypedia ก็ขอให้น้องหวานหวาน หายป่วยและกลับมาร่าเริงแข็งแรงนะคะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน เรามีเรื่องราวของ
สาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด และการดูแลรักษาเมื่อลูกๆ ป่วยมาฝากกันค่ะการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว จะสามารถช่วยได้นะคะสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด สามารถติดเชื้อได้จากหลายสาเหตุค่ะ ซึ่งส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ โดยเชื้อมักจะแฝงตัว ถ้าไม่ได้รับการตรวจ และไม่ได้รับยาฆ่าเชื้อเร็วก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เร็ว ส่วนใหญ่ของอาการติดเชื้อแบคทีเรีย คือมีไข้สูง ความดันตก ชีพจรเต้นเร็ว หรือมีอาการเหนื่อยหอบค่ะ
โดยสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการติดเชื้อหรือสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ มีดังนี้
1. ปัจจัยเสี่ยง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ มีโอกาสติดเชื้อแบบซ่อนเร้น คือติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดได้สูงกว่าเด็กโต หากมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวาน หรือเด็กที่ติดเชื้อ HIV ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน
2. แหล่งที่มาของเชื้อแบคทีเรีย มาได้จากหลายทาง เช่น เด็กบางคนมีภาวะปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นสาเหตุให้มีไข้ และเชื้อก็เข้าสู่กระแสเลือดตามมา
โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเกิดกับอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย เช่น ถ้าเป็นระบบทางเดินหายใจ เชื้อแบคทีเรียก็จะอยู่ตามลำคอ หรือติดจากการไอจามใส่กัน
หากมาจากลำไส้ เด็กจะมีอาการลำไส้อักเสบมาก่อน ซึ่งเกิดจากการกินอาหารไม่สะอาด มีสารพิษปนเปื้อน เช่น จากเปลือกส้ม หรือสิ่งแวดล้อมรายรอบที่เด็กคลานเล่น นั่งเล่น เช่น เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในขี้จิ้งจก แมลงสาบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดได้ทั้งสิ้นค่ะ
3. สัญญาณชี้โรค คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตสัญญาณบ่งชี้ว่าลูกรักกำลังมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ดังต่อไปนี้นะคะ
มีไข้ขึ้นสูง เกิน 39 องศา หากลูกอายุน้อยกว่า 1 ขวบ แล้วมีไข้ขึ้นสูง โดยไม่พบแหล่งที่มีของอาการชัดเจน เช่น ไม่พบว่ามีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน หรือมีปัสสาวะอักเสบชัดเจน มีไข้สูงอย่างเดียว แต่ลูกมีอาการซึม อ่อนเพลียร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องพามาหาคุณหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียดเพิ่มขึ้น
มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ไข้ขึ้นสูง ตัวเย็น มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบหืด หรือมีอาการตามระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น มีปอดอักเสบ ปัสสาวะกระปริบกระปรอย แสบขัด หรือปัสสาวะเปลี่ยนสี เป็นต้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาหาคุณหมอโดยเร็วค่ะ
ติดเชื้อแบคทีเรีย รู้เร็ว รักษาเร็ว หายได้เร็ว หากสงสัยว่าเป็น ขั้นแรกคุณหมอจะเพาะเชื้อในเลือด แล้วให้ยาเพื่อฆ่าเชื้อทันที ซึ่งสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือการเสียชีวิตลงได้
การเพาะเชื้อใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน หรือ 48-72 ชั่วโมงค่ะ พอรู้แล้วว่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ติดเชื้อเป็นชนิดไหน คุณหมอก็จะปรับยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมอีกครั้ง และจะให้ยาต่อเนื่องอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะหายจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ป้องกันลูกจากติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด
1. ให้นมแม่ ซึ่งช่วยป้องกันลูกน้อยจากการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดีที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก เพราะถ้าคุณแม่ให้นมแม่ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน ลูกก็จะมีภูมิคุ้มกันเรื่องการติดเชื้อในลำไส้ได้
2. ฉีดวัคซีนตามกำหนดที่คุณหมอนัด ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ รวมทั้งวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก็ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียบางชนิดร่วมด้วยได้
3. การดูแลสภาพแวดล้อม และดูแลอาหารให้สะอาด ให้ถูกสุขอนามัยก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ไข่ก็ควรเป็นไข่ที่ต้มสุก ภาชนะที่ใช้จะต้องผ่านการลวกนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ รวมถึงของเล่นหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านจะต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคค่ะ
จริง ๆ การรักษาใช้เวลาไม่นาน ลูกรักก็หายจากโรคนี้ได้แล้ว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยเฝ้าระวังอาการป่วยเริ่มต้นที่อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดให้ได้เร็วที่สุดเท่านั้น