นิทานช่วยกระตุ้นพัฒนาการหลากหลายด้าน
(เชื่อมั้ยว่า นิทานที่หนูฟังอย่างเพลิดเพลินทุกคืนก่อนนอนนั้น ช่วยสร้างเครือข่ายสมองลูกอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด) คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังบ่นเบื่ออยู่ในใจ หรือกำลังพลิกแพลงหาวิธีการเพื่อหลบเจ้าตัวร้ายไม่ให้คอยเซ้าซี้ขอนิทานก่อน นอน หรือหลบเลี่ยงเพื่อจะต้องเล่าเรื่องซ้ำๆซากๆเพราะซินเดอเรลลาของแม่ทำ รองเท้าหลุดเป็นพันๆ ครั้งแล้วใน 1 สัปดาห์ หมาป่ากินคุณยายเป็นครั้งที่ 100 ไปแล้ว จนหมาป่าพุงกางเสียยิ่งกว่าชูชก..ปลงเสียเถอค่ะ
เรามีข่าวร้ายจะบอกให้รู้ว่า ที่คิดจะหลบเลี่ยงนั้น เห็นท่าจะไม่ได้แล้ว ชั่วโมงนี้ ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงดูเด็ก และนักวิจัยจากทั่วโลกฟันธงลงไปแล้วว่า อันนิทานแสนหวานของหนูน้อย แต่ชักจะขมสำหรับผู้เล่านั้น คือสิ่งที่ช่วยสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองของลูกน้อยอย่างเยี่ยมยอดที่สุด
ปกติเด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 7 ปีนั้น ยังไม่อาจรับรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมได้ ถ้าพูดว่า "ดินสอ" เด็กจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้เห็นดินสอจึงจะรู้จักเข้าใจได้ หรือถ้าเราบอกว่าเลข 2 เด็กก็จะรู้ว่าหน้าตาเป็นเช่นนี้ แต่ไม่รู้ความหมาย เมื่อไรที่เราพูดว่าแตงโม 2 ผล แล้วเอาแตงโม 2 ผลมาวาง เด็กก็จะเข้าใจ ในช่วงนี้ สมองของเด็กจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากภายนอก เพื่อนำมาสร้างภาพพจน์และจินตนาการขึ้นในตัวเอง จนสามารถนำข้อมูลนั้นออกมาใช้ และตอบสนองต่อการกระตุ้นจากภายนอกได้ จนถึงอายุประมาณ 7 ขวบนั่นแน่ะ เด็กๆจึงจะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่า อะไรคือความความจริง และอะไรคือโลกของจิตนาการ
แต่การจะพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก คือกระตุ้นให้สมองส่วนการสร้างจินตนาการสามารถสร้างเครือข่ายการทำงานของมัน ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเด็กแนะนำว่า การกระตุ้นที่ดีที่สุดคือปล่อยให้เด็กได้เล่น หรือเล่านิทานให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ
การเล่านิทานให้ลูกน้อยฟังนั้น เมื่อยังเล็กเจ้าหนูของเราจะนิ่งฟังด้วยความสนใจ ความสนใจของเขาไม่ได้อยู่ในเนื้อเรื่องของนิทาน เพราะยังไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าหนูนั่งนิ่งฟัง อ้าปากหวอ จนบางครั้งน้ำลายยืดไม่รู้ตัวนั้น คือน้ำเสียงหนักเบาและลีลาการเล่าของพ่อแม่นั่นเอง นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้หนูน้อยสนใจต่อเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น และพัฒนาการฟังขึ้นไปจนถึงสามารถจดจำเรื่องราวจนสามารถสร้างภาพพพจน์ขึ้นใน สมองได้
น้ำเสียงหนักเบาจากการเล่านิทานของพ่อแม่ จะช่วยทำให้การทำงานของสมองส่วนอารมณ์หรือที่เรียกว่า limbic brain ไปทำงานร่วมกับสมองส่วนที่เรียกว่า neocortec สองแรงแข็งขัน ช่วยกันทำงานจนเกิดเป็นความฝันและจินตนาการ ทำให้คนเราสามารถสร้างภาพพจน์ขึ้นได้ ถึงตรงนี้คงไม่แปลกใจใช่มั้ยคะ ถ้าเราจะเห็นลูกน้อยของเราลุกขึ้นมาทำตัวเป็นหนูน้อยหมวกแดง วิ่งหนีกลัวหมาป่า หรือเที่ยวเดินหยิบไม้กวาดมาขี่เป็นแม่มด หยิบลังไม้มาทำเป็นรถเข็น ก็เขาเกิดจินตนาการและการสร้างภาพพจน์แล้วนี่คะ
การสร้างภาพพจน์และจินตนาการนนี้เป็นมีความสำคัญมากอยู่ เพราะเมื่อมันพัฒนาไปเต็มที่ ก็จะเอาข้อมูลจากโลกภายนอกมาสร้างจินตนาการขึ้นในตัวเอง แล้วส่งออกมายังโลกภายนอกอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญคือสามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ออกมาใช้เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภาย นอกอย่างถูกต้อง ตรงนี้แหละค่ะ ที่สำคัญนัก เพราะมันเป็นขั้นตอนแรกของความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง ถ้าไม่มีตรงนี้ หนูๆ ของเราก็อาจเติบโตมาได้ แต่จะรับเพียงข้อมูลอย่างเดียว ไม่อาจจินตนาการหรือแปลความออกมาได้อย่างสมบูรณ์
เด็กในวัย 5 ขวบจะสามารถฟังนิทานได้เข้าใจมากขึ้น เพราะตอนนี้หนูน้อยของเราเก่งแล้วค่ะ แกสามารถสร้างภาพพจน์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก อย่าเพิ่งแปลกใจนะคะว่า ในเมื่อสามารถสร้างภาพพจน์ได้เร็วขึ้น จะต้องมาฟังนิทานซ้ำซากกันอยู่ทำไม เพราะเจ้าหนูจะตอบเราว่า.....
"พูดแล้วจะหาว่าคุย หนูน่ะฟังครั้งเดียวก็จำได้หมดแล้ว แต่ที่หนูชอบฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมันช่วยทำให้เครือข่ายประสาทที่จะสร้างภาพพจน์สามารถทำงานได้มี ประสิทธิภาพ และสร้างไขมันสมองหุ้มเยื่อใยประสาทได้มากขึ้นต่างหาก"
นี่ไงล่ะคะ ที่เป็นเหตุผลว่า แม้จะเบื่อที่สโนว์ไวท์จะต้องกินยาพิษเป็นครั้งที่ ร้อยแปดพันเก้า ถ้าลูกน้อยยังต้องการ ก็ยังต้องเล่ากันต่อไปแต่ไม่ได้หมายความว่า นิทานเรื่องใหม่ๆจะถูกละเลยนะคะ เพราะนิทานเรื่องใหม่ก็มีผลดีของมันเองอยู่ด้วย คือนิทานเรื่องใหม่ๆก็จะไปสร้างเซลล์ประสาทใหม่ๆด้วยเหมือนกัน ตรงนี้อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ พ่อยอดอัจฉริยะของโลก ถึงกับให้คำแนะนำไว้ว่า.."ถ้าต้องการให้เด็กฉลาดก็ต้องเล่านิทานให้เด็กฟัง แต่ถ้าต้องการให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น ก็ต้องเล่านิทานมากๆ หลายๆ เรื่อง"
สรุปก็คือ ต้องเล่านิทานเรื่องโปรดของคุณหนูซ้ำแล้วซ้ำอีก และต้องมีเรื่องใหม่เข้ามาเติมอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงช่วยสร้างเครือข่ายประสาทให้มากขึ้น อยู่คงที่และทำงานมากขึ้นเท่านั้น การพยายามอดทนเล่านิทานของคุณพ่อคุณแม่ในวันนี้ จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในเรื่องการสร้างความคิดและจิตนาการ ความสนใจ และความตั้งใจในการเรียนรู้ในอนาคตของลูกน้อยด้วย
โรงเรียนระดับอนุบาลในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป เขาถึงไม่ได้สอนเด็กให้เรียน เขียนอ่านอะไรมากนัก แต่จะปล่อยให้เด็กได้เล่น และเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังเป็นส่วนใหญ่ โดยจะเล่านิทานเรื่องเดิมๆซ้ำๆอยู่หลายวัน ก่อนที่จะเล่าเรื่องใหม่ ไม่มามัวสอนอ่านเขียนให้เคร่งเครียดกันไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เหมือนที่เด็กไทยกำลังถูกยำ
อยู่เวลานี้ เอาล่ะค่ะ รู้อย่างนี้แล้ว คงมีกำลังใจที่จะไปจูงลูกมานอนหนุนตัก แล้วก็เริ่มด้วยประโยคคุ้นเคยที่ว่า "กาลครั้งหนึ่ง...นานมาแล้ว..." เนื้อเรื่องนิทานจะเป็นอย่างไรไม่รับรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือเรื่องเล่านิทานให้ลูกฟัง เราจบกันอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งนะคะ
สีสันลีลานิทานของ (พ่อ) แม่
* จัดช่วงเวลา อาจเป็นหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน หลังอาหารเย็น หรือระหว่างนั่งรถไปส่งลูกที่โรงเรียนของทุกวัน กำหนดให้เป็นช่วงเวลาสำหรับเล่านิทานให้ลูกฟัง
* ให้ลูกเป็นคนเลือกนิทานด้วยตนเอง บางเรื่องอาจจะดีสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กแล้วอาจเป็นเรื่องที่ "ฝืด"เป็นที่สุด
* เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงหนัก เบา หรือดัดเสียงแต่งเติมไปตามตัวละครในนิทาน เด็กจะสนุก ฟังอย่างเพลิดเพลิน คนเล่าเองก็จะพลอยขบขัน (กับลีลาของตัวเอง) ดีไม่ดีอะดีนาลีน หรือต่อมความสุขหลั่งไม่รู้ตัวนะเออ
* หากลูกอยากชวนพูดคุยเรื่องในนิทาน ระหว่างเล่าหรือเมื่อจบแล้ว อย่าพลาดโอกาส คุยกับลูกๆ ให้สนุก หรือบางครั้งอาจจะให้หนูๆ ช่วยกันแต่งเติมตอนจบ ก็จะได้บรรยากาศเล่านิทานมันส์ๆ อีกมุมหนึ่ง
* เมื่อไรที่ลูกลุกขึ้นมาเป็นลูกหมู 3 ตัว วิ่งหนีหมาป่า โปรดอย่ารอช้า แปลงกายเป็นหมาป่าเจ้าเล่ห์ เข้าขม้ำเจ้าตัวน้อยเสียเลย แต่อย่าดุหรือทำสมจริงมากนะคะ เดี๋ยวจินตนาการของลูกจะกระเจิดกระเจิงหมด
* เมื่อไรที่ลูกหมดความสนใจ ไม่อยากฟังแล้ว หรือไม่พร้อมที่จะฟัง ยังไม่ควรเล่า หรือเร่งรัดให้ลูกฟัง โดยเฉพาะตั้งเป็นกฎว่าลูกต้องฟังทุกวัน ทำอย่างนั้น เจ้าหนูต่อต้านนิทานเอาแน่ๆ เล่าในบรรยากาศสนุกสนาน พร้อมกันทุกฝ่าย ดีที่สุดค่ะ