เคยฟังรายการวิทยุ แล้วดีเจ.เสียงใสชวนคุยเรื่อง"กอดลูก" พูดเสร็จแล้วก็มาคิดได้ว่า..ตื้อและตันกับการเขียนต้นฉบับ ไม่ออกมาหลายสัปดาห์แล้ว น่าจะหยิบเรื่อง "กอดลูก"มาชวนท่านผู้อ่าน เสวนากันหน่อย
คุณจำได้ไหมคะว่า กอดลูกครั้งแรกเมื่อไร..???
...ดิฉันจำได้ว่าวันแรกที่กอดลูกไว้แนบอก คือตอนที่คุณหมอ(รศ.พญ.เสาวคนธ์ อัจจิมากร แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี -ป้าหมอของลูกๆ ชาวรักลูก) อุ้มเขาออกมาจากตัวแม่ แล้ววางเจ้าตัวเล็กบนอกแม่ ทั้งที่สายรกยังไม่ตัด ตัวลูกยังเปียกน้ำคร่ำคละเคล้าเลือดอุ่นๆ
เจ้าตัวน้อยร้องอุแว้ๆ นอนบนอกที่เปียกชื้นไปด้วยเหงื่อของแม่ กอดลูกจนลืมความเจ็บปวดที่ยาวนานร่วม 11 ชั่วโมงเป็นปลิดทิ้ง แล้วก็จำได้ตอนคุณพยาบาลอุ้มลูกมาให้อุ้ม กอดและดูดนมแม่เป็นครั้งแรกหน้าตาเนื้อตัวเจ้าราวลูกหนูตัวแดงๆ ว่ากันอย่างไม่เข้าใครออกใคร ก็ไม่น่ารักเท่าไรหรอกค่ะ ตาตี่ จมูกบาน ตามอย่างบรรพบุรุษฟากหนึ่ง-ตึ่งหนั่งเกี้ย หัวยาวเป๋นเหล๋นเพราะใช้เครื่องดูดช่วย แถมเนื้อตัวแดงๆนุ่มๆนั้นยังเหี่ยวย่น เป็นคราบไข แต่เมื่ออุ้มกอดกระชับแนบอก อยู่ๆก็รู้สึกประหลาดขึ้นมาว่า ลูกช่างน่ารักที่สุดในโลก เจ้าตัวเล็กๆนี่แหละมีค่าดุจชีวิตของเรา ลูกคือผู้ให้คำตอบแก่ชีวิตว่า จะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ลูกคือความหวังของเราที่มีต่อโลก ลูกคือผู้สืบทอด.....ลูกคือ.......สารพัดความดีงามที่เราใฝ่ฝันถึง
ตอนที่ลูกร้องโคลิก สามชั่วโมง ทุกสามทุ่ม ซึ่งนานเหมือนสามปี...เสียงร้องของลูกเขย่าระบบประสาททั้งระบบให้กวัดไกว แต่วงแขนที่กอดกระชับก้อนกลมๆอันเป็น เนื้อเป็นตัวของลูกนั้น บอกลูกว่าร้องได้ร้องไป ยังไงแม่ก็ไม่ปล่อยให้เจ้าร้องอยู่คนเดียวแน่ แม่จะไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด...เหมือนในวันข้างหน้า ถ้าเจ้าจะทุกข์จะสุข จะเดือดร้อนหมองไหม้ปานใด ก็ให้จำไว้ว่า วงแขนของแม่อย่างนี้แหละจะคุ้มครองป้องภัยให้เจ้าเสมอ ...มั่นคงไม่คลอนแคลน
นักวิจัยบอกว่า เด็กที่ได้รับการกกกอด จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ถึงได้มีคนมากอด แต่ถ้าถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครอุ้มใครกอด เด็กจะบ่มเพาะความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความรู้สึกดีต่อตัวเองในที่สุด
...คนไม่รู้สึกดีกับตัวเอง จะรู้สึกดีกับคนอื่นในโลกได้อย่างไร
คนที่ไม่เคยถูกกอดอย่างอบอุ่น จะกอดคนอื่นอย่างอบอุ่นได้อย่างไรเล่า
สมัยที่ลูกยังเด็ก ยังเล็กอยู่วัย 2-3 ขวบ วิธีปราบเซียนที่ดีที่สุดก็คือ จับมากอดแน่นๆ ไว้แล้วพูดด้วยดีๆ แต่หนักแน่น แค่นี้เจ้าตัวร้ายก็ไม่ทำเกอีก เวลาทำผิดเมื่อลูกขอโทษสำนึกผิดแล้ว ถ้าพ่อแม่กอดให้กำลังใจ ไม่นานพฤติกรรมเพี้ยนๆก็เปลี่ยนไป
การกอดมีอานุภาพปานนั้น..ชะรอยคงเห็นว่า เดี๋ยวนี้เขาโตแล้ว เข้าใจได้ด้วยการพูดแล้ว ไม่ต้องใช้ภาษากาย-กอด...??? เลยใช้"ลูกบ่น"มากกว่า
"ลูกกอด" ปรากฏว่าหลายครั้งไม่ได้ผล
มาทบทวนคิดดู...ต่อให้ลูกโตแค่ไหน เขาก็ยังต้องการวงแขนโอบกอดของพ่อกับแม่ เฉกเช่นมนุษย์ทุกคน ใครก็ต้องการให้คนกอดทั้งนั้น ไม่เชื่อถามคน(ที่ไม่ใช่ลูก)ข้างกายดูสิว่า แก่ป่านนี้แล้วยังต้องการให้เมีย(หรือผัว)กอดอยู่ไหม
กอดลูกนั้น กอดได้ตั้งแต่แรกเกิดจนลูกโต บางทีทำการทำงาน ทำการบ้านการเรียนจนลืมกอดกันไปบ้าง แต่นึกขึ้นได้เมื่อไรก็ยังกอดได้เสมอๆ อย่างเจ้าตัวโตของดิฉันจะเป็นหนุ่มแล้ว วันดีคืนดีคิดถึงพ่อกับแม่ก็ยังมานอนหนุนแขน ยังมากอดมาซุกตัวนอนข้างๆ...เขามาชาร์จแบตเตอรี่ในหัวใจของเขานั่นเอง
พูดได้ว่า กอด..ไม่ต้องมีวัยมากำกับ วัยไหนๆก็ต้องการกอดทั้งสิ้น !!
แล้วการกอดนั้น ใช่ว่าคนถูกกอดจะเป็น"ฝ่ายได้" คนกอดเป็น"ฝ่ายเสีย" ?? กอดกันทีไร ทั้งสองฝ่าย"ได้" ทั้งคู่ ต่างคนต่างสุขใจ และต่างคน ต่างได้เรียนรู้จากกันว่า ความมั่นคงในชีวิตนั้น ใช่ต้องไปหาจากที่อื่น ที่ตรงนี้..วงกอดของพ่อแม่ หรือของลูก หรือของเรานี่แหละ ให้ความมั่นคงของชีวิตได้มากกว่าที่ไหนๆ
ยิ่งคิดยิ่งเขียนยิ่งเสียดาย..ครั้งสุดท้ายที่กอดลูกคือเมื่อไร !!!