ลดอาการป่วนของพี่คนโต ยามมีน้อง
ถ้าปล่อยให้หนูเป็นลูกคนเดียวมาเป็นปี แล้วอยู่ๆแม่ก็อุ้มเด็กที่ไหนก็ไม่รู้ หน้าตาแปลกๆ แถมร้องไห้เสียงดังลั่นเข้ามาในบ้านพร้อมประโยคสั้นๆ(แต่ไม่ยักเข้าใจ)ว่า "นี่ไงจ๊ะ น้องของหนู" รับประกันได้ว่า หนูไม่มีวันยอมเด็ดขาด แล้วคราวนี้แม่จะรู้ว่า อาการหัวปั่นเมื่อหนูป่วนมันเป็นยังไง ฮึ่ม!
ก่อนอื่นเลยคุณแม่คงต้องทำใจว่า การท้องในครั้งนี้คุณแม่จะมัวมากังวลกับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองเพียงเท่า นั้นไม่พอค่ะ เพราะการตั้งครรภ์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของคุณกับลูกในท้องเท่านั้น ยังมีหนูน้อยอีกคนหนึ่งที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของแม่ และยังต้องการเวลาสำหรับตัวแกที่แม่ควรมีให้อยู่เหมือนเดิม
ลูกควรจะได้รับรู้เรื่องราวของน้องไปพร้อมๆกับผู้อื่นด้วย
และในแต่ละเดือนที่ผ่านไป อย่าลืมสะกิดลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยนะ เช่น เมื่อรูปร่างแม่เริ่มเปลี่ยนแปลง ลูกอาจฉงนสนเท่ห์ว่าน้องทำอะไรแม่ถึงเป็นแบบนี้ แม่ก็คงต้องอธิบายว่าน้องอยู่ในนี้ หรือเวลาน้องดิ้นก็คว้ามือน้อยๆของลูกมาวางที่ท้องในตำแหน่งที่น้องดิ้น
นอกจากนั้นหากมีเวลาแม่กับลูกน่าจะมาจับเข่าคุยกันสักหน่อยว่า หลังจากน้องเกิดมาแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น น้องจะร้องไห้บ่อย แม่ต้องแบ่งนมให้น้องกิน ต้องอุ้มน้อง ฯลฯ อย่าลืมย้ำอย่างหนักแน่นว่าน้องจะไม่ใช่คนที่มาแย่งความรักที่พ่อแม่มีต่อ ลูกไป แต่น้องมาเพื่อได้รับความรักจากลูก และต้องการการดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือจากลูกเช่นกัน
เมื่อถึง "วันนั้น"
อย่าลืมพาหนูไปเยี่ยมแม่กับน้องด้วย เพราะภาพที่เห็นทำให้หนูเข้าใจว่าที่แม่หายหน้าไปวันหรือ 2 วันก่อนหน้านี้ แม่ไปไหน! ทำอะไร! และได้เห็นว่าแม่สุขสบายดีแถมมีน้องน่ารักให้หนูอีก 1 คน
"กลับมาบ้านซะที"
แม้ว่าลูกจะทำท่าเข้าอกเข้าใจพ่อกับแม่และน้องใหม่เป็นอย่างดี แต่เมื่อกลับมาบ้าน ได้เห็นแม่ทะนุถนอมน้อง แอะนึงก็โอ๋ แอะนึงก็อุ้ม คุณแม่ก็อาจจะเห็นอาการวีนเล็กๆจากลูก เช่น อาจงอแงทำตัวเหมือนเด็กเล็กๆ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้ความอดทนสักนิด พยายามไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณเปลี่ยนไป แกก็จะรู้สึกอบอุ่นใจ มั่นใจ และเข้าใจว่าที่แท้พ่อแม่ก็ยังรักแกเหมือนเดิมแต่อาจแสดงออกแตกต่างกับน้อง ก็เท่านั้นเอง
แต่วิธีที่น่าจะช่วยป้องกันหรือลดอาการที่ว่านี้ลงได้ก็คือ จากโรงพยาบาลมาถึงบ้าน คุณแม่น่าจะไหว้วานให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดเป็นคนอุ้มลูก(คนเล็ก)แทน เพื่อแขนสองข้างของคุณแม่จะได้โอบกอดเจ้าตัวโตได้เต็มไม้เต็มมือ(และเป็นการ ช่วยให้คุณแม่สบายขึ้นหน่อยเพราะแผลหลังคลอดอาจทำให้อุ้มลูกไม่ถนัดมือ นัก)อย่าลืมกระซิบข้างๆหูลูกว่า ของขวัญชิ้นพิเศษนี้มอบให้ลูกเป็นคนช่วยดูแล และคุณคิดถึงลูกแค่ไหนตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล
"ช่วยกันหน่อยนะ"
ไม่ว่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับ "น้อง" ถ้าเป็นไปได้ขอโอกาสให้ลูกคนโตได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือน้องหน่อย เช่น ให้ลูกช่วยหยิบผ้าอ้อมให้ หรือส่งขวดนม ขวดน้ำของน้องให้ ถ้าอุ้มน้องอยู่ก็อาจอนุญาตให้ลูกมาอิงแอบอยู่ใกล้ๆ หรืออาจให้ลูกช่วยตัดสินใจเลือกสีเสื้อผ้าให้น้อง(วิธีการเหล่านี้นอกจาก ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างน้องกับพี่แล้ว ลูกคนโตยังได้ฝึกพัฒนาการในด้านการเป็นผู้นำ การรู้จักตัดสินใจ การรู้จักช่วยเหลือพี่น้องด้วย)
ทั้งหมดทั้งมวลที่ขอมา ไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้าคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างจะช่วยกันดูแลรักษาความ รู้สึกของหัวใจดวงน้อยดวงนี้ ที่สำคัญการเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆมีชัยไปกว่าครึ่งแน่ๆค่ะ
tip
*ลองหาตุ๊กตามาให้ลูก และลองให้แกดูแลตุ๊กตาเหมือนกับที่พ่อหรือแม่ดูแลน้อง เช่น อาบน้ำให้ตุ๊กตา เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ตุ๊กตา ป้อนข้าว แต่งตัวให้ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้อีกวิธีหนึ่ง
*ถ้าลูกทำท่าอยากรู้อยากเห็นและมีคำถามว่า "น้องมาจากไหน" คุณพ่อคุณแม่ควรให้ข้อมูลโดยประเมินจากการรับรู้ของลูกด้วยว่าแค่ไหนจะเข้า ใจ เพราะถ้าบอกอะไรมากเกินการรับรู้ของลูก แกอาจรู้สึกตกใจและกลัวก็เป็นได้