สอนลูกให้ก้มหน้างุด พยักหน้าหงึกหงัก ฟังคำสั่งอย่างเดียว ... หมดสมัยแล้วค่ะ
เดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็หันมาให้ความสำคัญกับการคิดกันทั้งนั้น ถึงกับมีประโยคว่า "เด็กยุคใหม่ต้องคิดเก่ง และคิดอย่างสร้างสรรค์"
"คิดเก่ง" เป็นยังไง คงพอเข้าใจกันบ้าง แต่ที่หลายคนสงสัยคือ "คิดอย่างสร้างสรรค์" คืออะไร สำคัญยังไง และฝึกกันได้ด้วยหรือ
คำตอบทั้งหมดรอคุณอยู่ค่ะ
รู้จัก "ความคิดสร้างสรรค์"
ความ คิดสร้างสรรค์คืออะไร ถ้าอธิบายกันแบบวิชาการ ก็คือคุณสมบัติของความคิดอันเป็นผลรวมสุดท้ายของกระบวนการภายในสมองของเรา ทำให้เกิดความคิดที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ แปลกแตกต่าง และส่งผลให้เกิดคุณค่าในวงแคบ (ต่อตนเอง) และวงกว้าง (ต่อผู้อื่น)
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ความคิดสร้างสรรค์คือการที่เรามีความสามารถที่จะคิดและแสดงออกซึ่งความคิด นั้นในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งนี้ขึ้นกับทักษะแต่ละด้านของแต่ละคนด้วย
องค์ประกอบสำคัญของความคิดสร้างสรรค์คือ ลักษณะของความคิดคล่อง คิดยืดหยุ่น และคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว แต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจนบางครั้งเรามองไม่เห็นหรือมองข้ามความสำคัญไป ยกตัวอย่างง่ายๆ การจับเสื้อตัวนี้ไปใส่กับกระโปรงตัวนั้น การคิดสูตรอาหารใหม่ๆ คงไม่ปฏิเสธใช่ไหมคะว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ถึงจะทำได้
แล้วความคิดสร้างสรรค์มีกันทุกคนหรือเปล่า ?
คำตอบคือ เราทุกคนมีความเป็นไปได้ที่จะมีความคิดสร้างสรรค์เรื่องใดเรื่องหนึ่งใน ชีวิต และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงควรทะนุถนอมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของลูก เพื่อช่วยให้เขารู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น และรู้จักสะท้อนความคิดและอารมณ์ของตัวเองได้ คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้คือกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขในชีวิต
บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์
การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูก มีหลักการง่ายๆ ก็คือ พยายามกระตุ้นหรือสร้างสถานการณ์ให้ลูกได้ใช้ความคิดในเชิงความคิดคล่อง ความคิดยืดหยุ่น และความคิดริเริ่มให้มาก ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นและสบายใจ
คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกเข้าโรงเรียนก่อนแล้วถึงค่อยฝึก ความคิดสร้างสรรค์ให้กับเขา วัยเตาะแตะนี่ล่ะค่ะเหมาะกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นัก
วิธีการง่ายๆ ก็คือใช้การเล่นและนิทาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของลูก
.............................เน้นส่วนนี้............................
* เล่นอย่างนี้สิสร้างสรรค์
การ เล่นกับเด็กๆ เป็นของคู่กัน แต่จะดีกว่าไหมถ้าการเล่นนั้นเป็นประโยชน์ด้วยคุณควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการเล่นให้มากที่สุด โดยรู้จักสังเกตว่าเวลาไหนควรเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับลูก หรือเวลาไหนควรให้เขาได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อย่างลื่นไหล และค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
-เล่นอย่างหลากหลาย อย่าให้ลูกเล่นของเล่นที่ใช้ทักษะซ้ำๆ กัน แต่ควรให้เขาได้เล่นด้วยวิธีการหลากหลาย เช่นถ้าปั้นดินน้ำมันมาได้สักพัก ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นระบายสีดูบ้าง ที่สำคัญคุณไม่จำเป็นต้องแสดงวิธีเล่นให้ลูกดู ปล่อยให้เขาได้ทดลองเอง หรือถ้าทำยังไงๆ ลูกก็เล่นไม่ได้ อย่าใจอ่อนยอมบอกแกหรือยอมให้แกเลิกเล่นเอาดื้อๆ หลอกล่อให้แกลองหาทางไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือการบริหารความคิดสร้างสรรค์ชั้นเลิศทีเดียวค่ะ
-เล่นสมมติ คุ้นกันดีใช่ไหมคะกับภาพที่ลูกหยิบก้อนหิน แล้วสมมติให้เป็นเงินเวลาเล่นขายของ หรือติ๊งต่างว่าดอกไม้เป็นข้าวผัด ความคิดสร้างสรรค์แกกำลังบรรเจิดค่ะ ถ้าคุณไปขัดขวางเพียงเพราะเข้าใจผิดว่าลูกกำลังเพ้อเจ้อ รู้ตัวไหมคะว่าคุณกำลังทำลายกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ของลูก หรือถ้าลูกชวนคุณเล่นด้วย เล่นกับแกเถอะค่ะ แล้วก็ยอมทำตามที่แกบอกด้วย การเล่นสมมติเป็นวิธีสำคัญที่ลูกน้อยวัยนี้ใช้สำรวจอารมณ์ของตัวเองและทำ ความเข้าใจโลกภายนอก
-เล่นออกท่าทาง วันดีคืนดีคุณอาจจะนึกครึ้มชวนคุณสามีกับเจ้าตัวเล็กลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลง บ้าง ก็ไม่เลวนะคะ การที่เด็กๆ ได้ร้องเพลง แสดงสีหน้าออกท่าออกทางล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น
-ทำของเล่นเอง ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง แถมยังทำเองได้อีกด้วย ของใช้ในชีวิตประจำวันนั่นล่ะค่ะเอามาทำเป็นของเล่นได้ดีนักเชียว กล่องกระดาษใบโตเอามาทำเป็นบ้านได้เป็นหลังๆ หรืองานศิลปะชั้นเยี่ยมของเด็กๆ หลายครอบครัวก็มาจากอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างหลอดด้ายเปล่า แกนกระดาษทิชชู การปล่อยให้ลูกทำของเล่นเองเป็นการฝึกจินตนาการซึ่งเป็นที่มาของความคิด สร้างสรรค์
รับรองเลยค่ะว่าถ้าลูกเล่นได้อย่างนี้ ความคิดสร้างสรรค์ของแกบรรเจิดแน่ เมื่อเล่นเสร็จแล้ว คุณอาจจะฝึกให้ลูกรู้จักเก็บข้าวของหลังใช้งานเสร็จไปพร้อมกันเลยก็ได้ ยิ่งถ้าทำให้การเก็บของเป็นเรื่องสนุกสนาน เช่นร้องเพลงไปด้วย หรือคิดเป็นเกมไปเลย คุณอาจจะได้ผู้ช่วยตัวน้อยที่เต็มใจช่วยงานคุณอย่างยิ่งทีเดียวค่ะ
.............................................
* นิทาน...เมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการ
ไม่ว่าจะเป็นเด็กยุคสมัยไหน นิทานยังคงเป็นเพื่อนแท้ในการสร้างจินตนาการความสุข และความประทับใจไม่เสื่อมคลาย
นอกจากการเล่นแล้ว คุณอาจใช้นิทานในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูกด้วยก็ได้ ถ้าเมื่อก่อนคุณเล่านิทานให้เขาฟังเพียงอย่างเดียว จะดีกว่าไหมคะถ้าให้ลูกมีส่วนร่วมในการเล่านิทานด้วย โดยคุณตั้งคำถามประเภท "ทำไม" "อย่างไร" "ที่ไหน" ระหว่างการเล่านิทานเพื่อให้ลูกได้คิดตามไปด้วย
คำถามของคุณควรนำมาซึ่งคำตอบที่ต่างกันไป เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดในลักษณะต่างๆ เช่น "ลูกเห็นอะไรในภาพนี้บ้าง" จะช่วยกระตุ้นความคิดคล่องของแก หรือคำถามประเภทที่ต้องการคำตอบไม่ซ้ำใคร จะช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่ม เช่น "ถ้าไม่ใช้ฟักทองเสกเป็นรถม้า ลูกว่าซินเดอเรลล่าจะใช้อะไรแทนดี"
คำถามประเภทจัดกลุ่มหรือจัดแนวคิดใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดรูปแบบเดียว เช่นให้ลูกจัดภาพข้าวของที่เห็นในหนังสือนิทานเป็นกลุ่มๆ จะช่วยกระตุ้นความคิดยืดหยุ่น
คำถามอีกประเภทหนึ่งคือคำถาม ประเภท "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร" จะช่วยกระตุ้นความคิดในการสรุปรวบยอด (concept) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ๆ หลังจากมีการเรียนรู้อย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์
เห็นไหมคะว่าความคิดสร้างสรรค์พัฒนากันได้ไม่ยาก ขอเพียงคุณให้ความสำคัญกับการให้ลูกได้คิด ในชีวิตประจำวัน ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเขาคือใคร และรู้สึกนึกคิดอย่างไร ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตในอนาคต
ที่สำคัญคุณ ควรรู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากข้างในตัวลูก ไม่ใช่แรงกดดันจากภายนอก อย่าบังคับหรือกดดันลูกจนทำให้บรรยากาศเคร่งเครียดเกินไป เพราะแทนที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์จะกลายเป็นทำลายเสียเปล่าๆ
...........................(ล้อมกรอบ).............
สื่อสารให้สร้างสรรค์
สถานการณ์ * ไม่ควรพูด -ควรพูด
ลูกบอกคุณว่าเขากำลังวาดรูปต้นไม้
*ต้นไม้ต้องมีกิ่งก้าน มา..เดี๋ยวแม่ นี่ต้นไม้ต้นใหญ่ (พ่อ) จะวาดให้ดูนะจ๊ะ ใช่ไหมลูก
- ต้นที่อยู่สนามหญ้าหน้าบ้านเราหรือเปล่า
ระหว่างการเล่นสมมติ ลูกเกิดหมดไอเดียเอาดื้อๆ
*แม่รู้ เดี๋ยวตุ๊กตาของแม่จะไปที่ร้านขายของ ส่วนของลูกจะไปคิดเงินที่แคชเชียร์ยังไงล่ะ
-แล้วลูกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปจ๊ะ
ลูกร้องเพลงผิด *ผิดแล้วลูก เดี๋ยวแม่ (พ่อ) จะร้องให้ฟัง
-เพลงอะไรนะ แม่ (พ่อ)ไม่เคยได้ยินเลย สอนแม่ร้องมั่งสิจ๊ะ