เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.วิมลรัตน์ วัณเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
สร้างหัวใจปรองดองตั้งแต่วัยซน
ความปรองดองไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับสังคมเล็กหรือใหญ่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากคนในสังคมไม่มีความปรองดองต่อกัน ก็คงยากที่จะอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น มาสร้างสังคมปรองดองด้วยการสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ ค่ะ
ความปรองดองเริ่มจากอะไร
พัฒนาการตามวัยของเด็กวัยซน 1-3 ปี คือ มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้มากขึ้น จึงมักคิดว่าตัวเขาเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ ยังไม่รู้จักการแบ่งแยกสิ่งของ จึงคิดว่าของของคนอื่นคือของของตนเอง เราจึงจำเป็นต้องสอนให้ลูกรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น เช่น การรู้จักแยกแยะของฉัน ของเธอ รู้จักกฎระเบียบที่จะอยู่ร่วมกัน การอดทนรอคอย รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ นั่นหมายถึงการที่เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความปรองดองกับผู้อื่นได้ค่ะ
ส่วนใหญ่การสร้างความปรองดองของวัยนี้ คือ การสอนให้รู้จักสิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น ถ้าลูกอยากเล่นของเพื่อนก็ควรสอนให้รู้จักขอยืมและส่งคืน แทนการหยิบเอาของเพื่อนมาเป็นของเรา โดยการสอนให้เด็กรู้จักความปรองดองนั้น สามารถสอดแทรกได้ในชีวิตประจำวันเลยค่ะ
วิธีส่งเสริมความปรองดองให้ลูกวัยซน
1. พ่อแม่ควรปรองดองกันเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในบ้าน หรือปัญหาชีวิตคู่ก็ควรรู้จักควบคุมอารมณ์ หากมีอารมณ์หงุดหงิดมาก อาจจะต้องทิ้งเวลาให้อารมณ์เย็นลงก่อน แล้วจึงมาพูดคุยกันถึงปัญหาเหล่านั้น เพราะหากพ่อแม่ยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ หรือชอบพูดจาประชดประชันใส่กัน ลูกก็จะจดจำแบบอย่างที่ไม่ดี
2. ฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัย ด้วยพัฒนาการตามวัยที่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง จึงชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ก็สามารถฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัยได้จากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำ วัน โดยสอนให้ลูกรู้จักทำตามกฏกติกา เช่น ตื่นนอน กินข้าว ขับถ่ายเป็นเวลา รู้จักเก็บของเล่นเข้าที่
รวมทั้งต้องรู้จักมารยาทในสังคม เช่น การทักทายสวัสดี ขอโทษ ขอบคุณ เคารพผู้ใหญ่ หรือเมื่อออกไปในที่สาธารณะที่ห้ามใช้เสียง ก็ต้องไม่ส่งเสียงดัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการควบคุมตัวเอง อดทนและมีระเบียบวินัยค่ะ
3. เข้าสังคมฝึกความปรองดอง ควรพาลูกไปเล่นกับเด็กๆ ในวัยเดียวกัน อาจจะเป็นเพื่อนข้างบ้าน หรือญาติพี่น้อง เพื่อให้เด็กๆ รู้จักการใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นในสังคมจริงนอกเหนือจากสังคมที่มีแต่พ่อแม่ หรือการที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะพาลูกไปเนิร์สเซอรีหรือเข้ากลุ่มกิจกรรมเสริม พัฒนาการก่อนเข้าโรงเรียน สถานที่เหล่านี้สามารถฝึกความปรองดองให้กับเด็กๆ ได้ แต่พ่อแม่ก็ควรสอดแทรกเรื่องการแบ่งปัน ไม่รังแกผู้อื่นและสอนให้รู้จักเล่นกับเพื่อนด้วยความประนีประนอมกัน หรือถ้าหากมีการทะเลาะกัน ก็ควรบอกลูกถึงวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
4. ใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือสังคมอื่นๆ ก็ควรใช้กฎระเบียบเดียวกัน เพื่อให้ลูกไม่สับสน และค่อยๆ ฝึกฝนตนเอง ถ้าหากพ่อแม่มีกฎระเบียบแต่ปู่ย่าตายายตามใจหลาน ก็จะทำให้หลานไม่มีวินัย หรือหาโอกาสที่จะทำตามใจตัวเองได้ง่ายขึ้น