หนึ่ง ในพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสำหรับเด็กอย่างหนึ่งคือลักษณะพฤติกรรมการติด ซึ่งสำหรับเด็กวัย 0-6 ปีนั้นอาจจะมีรูปแบบการติดได้หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการติดดูดนิ้ว ไชสะดือ ผ้าห่ม ตุ๊กตาเน่า ทีวี การ์ตูน ฯลฯ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนกังวลนั่นแอง ซึ่งพฤติกรรมติดนี้อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดปัญหาในอีกหลายด้านด้วยกัน
จริงๆ แล้วลักษณะพฤติกรรมที่เด็กติดสิ่งของหรือติดทำอะไรบางอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาการมักจะค่อยๆ ดีเมื่อโตขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นช่วงเวลาที่ลูกกำลังติดเองก็เป็นการสะท้อนถึงรูปแบบการ เลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะการที่เด็กติดทำพฤติกรรมบางอย่างนั้น แสดงได้ว่าเด็กกำลังเหงา หาที่พึ่งทางจิตใจ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ ไม่มีของเล่นให้เล่น เด็กจึงไปทำพฤติกรรมบางอย่างแทน
* * * * * * * * *
อธิบายพฤติกรรมติด
พฤติกรรม ติด ไม่ว่าจะเป็นการติดทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือติดสิ่งของ ล้วนเป็นการที่เด็กค้นพบสิ่งที่สร้างความสนุก เพลินเพลิน หรือสบายใจให้กับตัวเอง เมื่อพบว่าทำแล้วสบาย มีความสุขก็เลยทำเป็นประจำจนเคยชิน และกลายเป็นติดในที่สุด
ผ่อนคลาย ช่วยให้สบาย
หลาย คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กเล็กๆ จะชอบดูดนิ้ว อมกำปั้นน้อยๆ (ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 เดือน อาจแสดงว่าลูกยังหม่ำนมไม่อิ่ม แต่ถ้าหลัง 6 เดือนไปแล้วก็เป็นไปได้เจ้าตัวเล็กเหงา) รวมถึงติดผ้าห่มเน่า หมอนเหม็น ฯลฯ ทั้งๆ ทีอาการติดนี้น่าจะลดลงและหมดไปก่อนที่จะเข้าโรงเรียน จะเนื่องจากลูกกำลังขาดความสุข หรืออาจจะกำลังเหงา ไม่ได้รับการเอาใจใส่พอ อยู่กับพี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ที่ดูทีวีเป็นประจำ เด็กจึงหันไปทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อคลี่คลายความเหงา ความกังวลที่เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าหาที่พึ่งทางใจนั้นเองค่ะ เมื่อทำแล้วผ่อนคลาย สบายใจ เด็กจึงติดที่จะทำพฤติกรรมนั้นอยู่เป็นประจำ
แต่หากถูกขัดใจ เช่น ดึงนิ้วมือที่ดูดออกทันที หรือตีมือลูกทันทีที่จับสะดือ นอกจากจะร้องไห้เป็นเผาเต่าแล้ว การขัดใจนี้เองที่จะส่งผลให้เด็กเครียด และอาจจะทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมด้านอื่นๆ ตามมาแทนที่ได้
ดึงดูด เร้าความสนใจ
ส่วน อาการติดทีวี เกม นั้นมาจากการที่เป็นสื่อที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี เพราะมีทั้งภาพและเสียง จึงสามารถหยุดให้เด็กนั่งนิ่งไม่ซนอย่างได้ผล คุณแม่หลายๆ คนจึงเอาทีวีหรือเกมมาเป็นพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยงลูกให้ พร้อมกับแอบดีใจว่าดีจัง ลูกไม่ซนเลย เมื่อดูบ่อยๆ เป็นประจำก็เลยติด ไม่เปิดไม่เล่นลูกก็หงุดหงิด งอแง ในสุดดก็ต้องยอมใจอ่อน ตัดรำคาญเปิดให้ ...
ดังนั้นการให้เวลาใกล้ชิดกับลูกของคุณพ่อและคุณแม่ (และผู้เลี้ยงดู) จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากกับพฤติกรรมติดที่เกิดขึ้นของลูก
ภาวะติดกับวงจรในสมอง
อาการ ติดนี้ยังเกี่ยวข้องกับวงจรในสมองด้วย นพ.อุดม เพชรสังหาร รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิชาการ รักลูกกรุ๊ป ได้เคยอธิบายให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นสมองนี้ให้ฟังว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการติดนั้นคือสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) มีหน้าที่ควบคุมการยับยั้งชั่งใจและการตัดสินใจ สำหรับเด็กแล้วเมื่อสมองส่วนนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ จะทำให้เกิดอาการติดทั้งติดทำพฤติกรรม ติดเกมหรือติดทีวีได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ บวกกับเมื่อทำแล้วเกิดความสนุก และความสนุกนี้ได้เข้าไปกระตุ้นวงจรหนึ่งของมนุษย์ให้หลั่งสาร โอเร็กซิน (Orexin) ออกมา ซึ่งเจ้าสารนี้เองที่เข้าไปกระตุ้นวงจรแห่งความสุข สนุกสนาน (Reward Circuit) ให้เกิดขึ้นตามมา เมื่อเกิดขึ้นบ่อยเข้า แต่จู่ๆ เมื่อต้องหยุดการหลั่งสารนี้ลงจะทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข หงุดหงิดแสดงความก้าวร้าว ซึ่งอาการนี้เองที่เรียกว่าเป็นอาการติดหรือการเสพติดนั้นเอง
ช่วยลูกไม่ติดได้อย่างไร
เมื่อ คุณพ่อคุณแม่สังเกตแล้วว่าลูกเริ่มติดที่จะทำพฤติกรรมบางอย่าง อย่าละเลยคิดเอาว่าลูกหายเอง เพราะอย่าลืมว่าที่ลูกติดทำอะไรนั้นแสดงถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ละเลยค่ะ ดังนั้นควรเร่งที่จะใส่ใจลูกโดยด่วนเลยค่ะ
+ อย่าขัดทันที เช่น หากลูกติดดูดนิ้วก็อย่าดึงนิ้วมือลูกออกทันที หรือตีมือลูก เพราะยิ่งจะทำให้เด็กไม่พอใจ กลายเป็นความคับข้องใจ อาจจะทำให้เด็กเครียด และยิ่งต่อต้านได้
+ ไม่ควรดุหรือลงโทษ เมื่อลูกทำพฤติกรรมนั้นเพราะจะทำให้เด็กเครียด และยิ่งสร้างความกดดัน ซึ่งอาจจะไปแอบทำ ซึ่งไม่ใช่การหยุดพฤติกรรมที่ได้ผล
+ แก้ไขด้วยวิธีสร้างสรรค์ เช่น หากิจกรรมต่างๆ ให้ลูกแทน ไม่ว่าจะเป็นการเล่มเกม อ่านหนังสือ เล่านิทาน พร้อมกับหมั่นกอด หมั่นเล่นกับลูกบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ลูกเหงา เพราะเมื่อเด็กมีกิจกรรมทำกับพ่อแม่ที่มีความสุขมากกว่าก็จะทำให้ลืม พฤติกรรมนั้นไปได้
+ ป้องกันแทนห้าม ลดอาการติดด้วยการช่วยเบี่ยงเบนให้ลูกทำกิจกรรมอื่น ไม่เริ่มให้ลูกดูทีวี (ก่อน 2 ขวบ) หรือเล่มเกมคอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็น รวมถึงป้องกันปัญหาที่อาจะเกิดตามมา เช่น เรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย เช่น เมื่อลูกติดนิ้วคุณแม่ควรหมั่นล้างนิ้วที่ลูกชอบดูด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าปาก ส่วนที่ลูกชอบใช้มือไชสะดือจนเป็นแผล ให้เบี่ยงเบนด้วยการหากิจกรรมอย่างอื่นทำ และหมั่นทำความสะอาดสะดือไม่ให้ลูกรู้สึกคัน เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกามากขึ้นค่ะ
จริงๆแล้ววิธีการดูแลเอาใจใส่ลูกก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบ้านนะคะ เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่อย่าลืมและละเลยคือ รักและเอาใจใส่ลูกเป็นหลักค่ะ เพราะการเลี้ยงลูกเป็นการอุทิศตัวอย่างน้อยในช่วงแรกเกิด -6 ปีแรกของชีวิต พ่อแม่ควรให้เวลาลูกอย่างเต็มที่ เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดและเข้าใจ เพราะช่วงเวลาเด็กที่กำลังบ่มเพาะและสร้างความเป็นตัวเองนี้ ผ่านมาในชีวิตเพียงครั้งเดียว หากพ้นกำหนดช่วงเวลานี้ไป คุณพ่อคุณแม่ไม่มีสิทธิ์เรียกคืนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้กลับมาได้อีกค่ะ