โดยธรรมชาติพัฒนาการของลูกวัย 1-3 ขวบ นั้น จะมีพฤติกรรมติดแล้วค่ะ เด็กบางคนติดสิ่งของ บางคนติดคนใกล้ชิด ติดพ่อแม่ คุณตาคุณยาย แต่เราจะเน้นที่พฤติกรรมติดพี่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องนั้นสุดแสนจะเหนียวแน่น เนื่องจาก วัยไล่เลี่ยกัน อีกทั้งลืมตาขึ้นมาก็เจอกันแทบทุกครั้งเลยค่ะ
เหงาจริง เหงาจัง... ฟังเสียงหนูหน่อย
ส่วนใหญ่เด็กที่ติด พี่มากกว่าคุณพ่อคุณแม่ อาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก ยิ่งพี่มีอายุห่างจากน้องมากเท่าไร พี่ก็จะยิ่งเข้ามามีบทบาทแทนคุณพ่อคุณแม่ ช่วยเหลือดูแลน้องทั้ง อาบน้ำ ป้อนข้าว เล่นสนุกด้วยกัน เป็นพี่ที่แสนดีไปเสียทุกเรื่อง เรียกได้ว่า เป็นพี่คนโตที่ทำหน้าที่ทั้งเพื่อนเล่น และพี่เลี้ยงไปในตัว
ทำให้น้องรู้สึกผูกพันและไม่ต้องการแยกจากพี่ได้ค่ะ แต่ในความเป็นจริง เมื่อพี่มีอายุถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียน และหายไปจากชีวิตน้องก็จะส่งผลให้ลูกวัยเตาะแตะของคุณรู้สึก...
-
-
- เหงาและอ้างว้าง เพราะไม่มีพี่คอยเล่น คอยปลอบ และดูแลเหมือนเดิม
- กังวลใจ เพราะรู้ศักยภาพของตนว่ายังไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ทุกอย่าง
นอกจากเรื่องความรู้สึกแล้ว การแสดงออกก็จะแตกต่างไปตามวัยด้วยค่ะ
1 ขวบ... ยังไม่มีความสามารถในการระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ดีนัก ลักษณะอาการจึงเน้นไปที่การร้องไห้งอแงเป็นหลัก
2 ขวบ... ตอนนี้ลูกเริ่มพูดเก่ง และเล่นมากขึ้นด้วย เมื่อรู้สึกกังวลหรือเหงาก็จะสามารถสื่อสาร อีกทั้งรับฟังสิ่งต่างๆ ได้เข้าใจขึ้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดโน้มน้าวให้ลูกหยุดความกังวล หรือหากิจกรรมสนุกๆ ให้ลูกเล่นเพื่อแก้เหงาได้ง่ายกว่าช่วงขวบแรกค่ะ
3 ขวบ... ทั้งรับฟังและสนทนาได้คล่อง ปรื๋อ นอกจากจัดการง่ายกว่าทุกขวบที่กล่าวมาแล้ว คุณยังสามารถพาลูกไปดูโรงเรียนที่พี่หายไปทุกเช้าได้ด้วย ซึ่งทำให้การที่พี่ไปโรงเรียนเป็นโอกาสในการเตรียมน้องเข้าเรียนไปในตัวค่ะ
แก้ได้แน่...พ่อแม่อย่าห่วง
- ก่อนเข้าไปแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าการติดนี้เป็นพัฒนาการปกติ อย่าไปกังวลหรือช่วยเหลือปลอบประโลมเสียจนลูกไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และก้าว ข้ามผ่านพัฒนาการในช่วงนั้นๆ ได้ด้วยตนเองค่ะ
- คุณพ่อคุณแม่จะต้องรู้วิธีช่วย พยายามจัดกิจกรรมให้เกิดการแยกจาก ให้ต่างคนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง สอนให้ลูกปรับตัวยอมรับคนอื่นที่เข้ามาช่วยเหลือนอกจากพี่ได้ หรืออาจยอมขัดใจลูกบ้างในช่วงที่มีการแยกจากกัน เช่น การพาไปหาหมอ การทำอะไรทีละคน ไม่ต้องทำพร้อมๆ กันหมด
- ไม่ควรสอนให้พี่คอยดูแลน้องเสียจนทำให้ทั้งชีวิตของน้องมีแต่พี่ คุณพ่อคุณแม่ควรสลับบ้าง ไม่ใช่พอแม่ทำให้ก็ร้องงอแง ปฏิเสธจะให้พี่เป็นคนทำให้อย่างเดียว
- ถ้าเล่นด้วยกันก็ให้เล่นแบบต่างคนต่างเล่น แต่เล่นอยู่ข้างๆ กัน สอนให้ลูกเล่นคนเดียวกับของเล่นบางอย่าง ต่างคนต่างเล่นบ้างจะได้ไม่เหงาเมื่อถึงเวลาที่ต้องเล่นคนเดียว และเปิดโอกาสให้ลูกคนเล็กได้ลองทำบางอย่างเอง มากกว่าจะให้นั่งดูพี่ทำอยู่คนเดียว
- คุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่ทดแทนบทบาทของพี่ที่หายไป อาจเป็นการเล่นด้วยกันแบบเด็กๆ ป้อนข้าว พาไปเดินเล่น เป็นต้น
- ถ้าลูกกังวลมากก็พาไปดูสถานที่จริงที่พี่อยู่ เพื่อลูกจะได้เชื่อมโยงและเข้าใจได้ว่า พี่ไม่ได้หายไปไหน แต่ไปโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่เพิ่งพาไปดูเมื่อวานนี้
- ไม่พูดหลอกให้ลูกเกิดความหวัง เช่น แป๊บเดียวพี่ก็กลับมา เพราะแป๊บเดียวของเด็กนั้นใช้เวลาประมาณอึดใจเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ประโยคที่เชื่อมโยงกับกิจวัตรของลูกเช่น เดี๋ยวตอนกินข้าวเย็นก็จะได้เจอพี่แล้วนะคะ เป็นต้น
- เสริมการเล่นที่กระตุ้นทักษะเรื่องการแยกจาก และวัตถุไม่ได้หายไป เช่น เล่นซ่อนแอบ จ๊ะเอ๋ เป็นต้น
- กรณีที่ลูกอายุไล่เลี่ยกัน คือลูกคนเล็กอายุประมาณ 3 ขวบ พี่คนโตประมาณ 4-5 ขวบ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาดูแล หรือยังคิดหาวิธีแก้ไม่ได้ อาจลองให้เด็กไปโรงเรียนพร้อมกันเลยก็ได้ค่ะ แต่ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่าอยู่บ้านกับโรงเรียน ที่ไหนมีข้อดีข้อเสียมากกว่ากัน ถ้าที่บ้านมีคนเลี้ยง แต่ลูกอยู่ด้วยไม่มีความสุข ร้องไห้งอแง หรือพี่เลี้ยงพูดไทยไม่เป็นซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการลูก อย่างนี้อยากให้ลองพิจารณาการส่งลูกไปโรงเรียน แต่ถ้าทุกอย่างที่บ้านดีอยู่แล้ว โรงเรียนก็ไม่ใช่คำตอบที่จะส่งลูกวัย 2-3 ขวบ ที่ยังเล็กอยู่ไปค่ะ
งอแงนาน...จัดการด่วน!
หากคุณพ่อคุณแม่ปรับทุกอย่างแล้ว แต่ 2 อาทิตย์ผ่านไป ลูกก็ยังไม่ดีขึ้น ขอบอกว่าอย่านิ่งนอนใจไปค่ะ เพราะลูกของคุณอาจกำลังมีปัญหาความมั่นคงทางจิตใจซึ่งเกิดจากพื้นอารมณ์เป็น เด็กเลี้ยงยาก หรืออาจกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ลองประเมินดูค่ะว่าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า
-
- มีประวัติทางพันธุกรรม
- ร้องนานเกินครึ่งชั่วโมงทั้งที่เบี่ยงเบนความสนใจทุกวิถีทางแล้ว
- ร้องงอแงมากกว่า 2 อาทิตย์
หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพาลูกมาพบแพทย์ด้านพัฒนาการเด็กหรือด้านจิตเวช เพื่อรับการดูแลช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ