ยี่เชื่อว่าการที่เราจะสอนและปลูกฝังอะไรกับเด็ก เราควรจะเริ่มตั้งแต่เขายังเล็กๆ ถึงจะได้ผลดี เหมือนกับคำโบราณที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก่ดัดยาก" ค่ะ
ตาเป้ที่อยู่ในวัย 2 ขวบเต็มที่ฝรั่งเรียกว่า terrible twos (and 3 ...4 ) ซึ่งเป็นช่วงที่ดื้อ ซนและรั้นสุดๆ และตาเป้ก็เริ่มที่จะมีท่าทีเป็นอย่างนั้นจริงๆ ยี่จะได้ยินคำว่า "ไม่" บ่อยขึ้น จะไม่ให้แตะ ไม่ให้จับ ไม่ให้ช่วย เป็นตัวของตัวเองมาก อยากช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ไม่ค่อยยอมให้ใครช่วยนอกจากมะม้าหรือปะป๊า
ช่วงปิดเทอมนี้ยี่ให้ตาเป้รู้จักกับทีวี ให้ดูเซซามี่สตรีตและเอลโม่ รายการที่โปรดปราน ประมาณวันละ 1 ชั่วโมง แรกๆ ก็ดูไปอย่างนั้น ดูไปเล่นไป แต่แล้วตาเป้ก็ติดใจติดจอ ตื่นมาก็จะบอกว่า
"ตูนๆ .. วีๆ"
ยี่ก็ไม่ได้โกหกว่าทีวีเปิดไม่ได้เพราะตาเป้ฉลาดเกินกว่านั้น ก็เลยตอบไปตรงๆ ว่าหลังจากนอนกลางวันแล้วถึงจะเป็นเวลาทีวี ช่วงนี้ก็ชวนออกไปเดินเล่นชี้นกชี้ไม้แล้วก็ต้องทำให้ปะป๊าแฟรงค์เข้าใจว่า การนั่งดูทีวีเยอะไป โดยเฉพาะการดูโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยอธิบาย ตาเป้จะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากจากทีวีเลย อาจจะพูดเร็วขึ้นเพราะก้อปปี้คำศัพท์ไป
เรื่องนี้เลยต้องตั้งเป็นกฎกติกาและมารยาทประจำบ้าน เพราะจากที่ไม่ให้ดูทีวีเลยก็เริ่มเปลี่ยนเป็นให้ดูบ้างแต่เป็นเวลา เหมือนกับหลายๆ อย่างในชีวิตตาเป้ที่ถูกปลูกฝัง จ้ำจี้จำไช้ พูดแล้วพูดอีกจนรู้ซึ้ง หรือที่เรียกว่าปากเปียกปากแฉะมันเป็นอย่างไร
ยี่ยังจดจำและเชื่อในคำพูดของพ่อที่มักจะพูดเสมอๆ ตอนยี่เด็กๆ ว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ยี่ไม่ได้อยากจะเข้มงวดเท่าคุณพ่อหรอกค่ะ แต่ก็ไม่อยากจะตามใจปล่อยให้ลูกรู้เองแล้วถึงวันนั้นมันอาจจะสายเกินไป
ยี่เชื่อว่าไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะสอนตาเป้ค่ะ ยิ่งได้หาความรู้เพิ่มในทุกๆ วัน ยิ่งมีความรู้สึกเสียดายว่าจริงๆ แล้วยี่น่าจะเริ่มสอนหลายๆ อย่างเร็วกว่านี้ แต่ก็ดีใจที่ตัวเองรักษาความตั้งใจแน่วแน่ไว้ได้ในหลายๆ เรื่องอย่าง เช่น การใช้ car seat เวลานั่งรถ ซึ่งตาเป้ก็จะนั่งข้างหลังตลอดตั้งแต่แบแบะและมักจะอยู่คนเดียวตั้งแต่เล็กๆ เวลาเดินทางไปไหนมาไหนตาเป้ก็ไม่เคยกวน เพราะก่อนออกเดินทางยี่จะตรวจให้แน่ใจว่าเขาแห้งสบายตัว อุณหภูมิกำลังดี แดดร้อนไม่ส่องเขาและอิ่มสบายท้องด้วย นี่แหละคือวิธีที่ยี่เริ่มต้นฝึกเขา
คำถามที่คุณแม่หลายๆ ท่านมักจะถามยี่เสมอว่าทำอย่างไรลูกถึงยอมนั่ง car seat หรือยอมอยู่ใน high chair หรือแม้กระทั่งแยกห้องนอนได้ คำตอบของยี่จากประสบการณ์กับตาเป้ก็คือการฝึกตั้งแต่เล็กๆ ค่ะ เพราะเท่าที่จำความได้ตาเป้ก็นั่ง car seat อยู่ข้างหลัง นั่งป้อนข้าวใน high chair และนอนแยกห้อง ตาเป้ก็เลยคิดว่านี่เป็นสิ่งปกติที่ต้องทำ เพราะถ้าโตและมีทางเลือกให้ ยี่คิดว่าเด็กๆ ทุกคนคงไม่ยอมนั่งกับที่เฉยๆ หรอกค่ะ
ตาเป้เองก็เคยลองดื้อ ไม่ยอมนั่งด้วยการร้องไห้โวยวายแต่ยี่ก็ไม่ใจอ่อนค่ะ ถ้าไม่ขึ้น car seat ก็ไม่ต้องไป และถ้าจะไปก็ต้องนั่ง จะร้องไห้จนรถระเบิดก็ต้องนั่ง ไม่มีการใจอ่อน เพราะยี่พูดดีแล้ว อธิบายแล้ว อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการใจอ่อนอาจจะหมายถึงอุบัติเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ยี่เลือกที่จะรำคาญหูดีกว่าค่ะ พอพี่แกเหนื่อยก็หยุดร้องเองแหละค่ะ
เดี่ยวนี้ car seat มีให้เลือกเยอะแบบไม่แพงมากก็น่าจะหาได้ หรืออาจจะใช้แบบมือสองแต่ต้องดูให้ดีมากๆ นะคะว่ายังใช้งานได้ดีอยู่ ไปประหยัดอย่างอื่นดีกว่า อย่าขี้เหนียวกับสิ่งที่รักษาชีวิตลูกของเราได้เลย ยี่เห็นเยอะแล้วล่ะค่ะที่ในรถราคาแพงมีเด็กเกาะคอนโซลอยู่ข้างหน้า ในขณะที่ผู้ปกครองมือหนึ่งจับพวกมาลัยอีกมือหนึ่งจับโทรศัพท์ บางคนก็กลัวจะเปลืองเนื้อที่ผู้โดยสารไป แล้วที่น่าเสียดายก็คือซื้อมาแล้วแต่ไม่ได้ใช้เพราะลูกไม่ยอมนั่ง
ยี่อดคิดไม่ได้ว่าเมื่อเรามีทางเลือกทำไมเราไม่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งเปรียบเทียบกับพ่อแม่หลายคนที่ไม่สามารถเลือกได้ ต้องอุ้มลูกจูงลูกขึ้นรถเมล์ บางครั้งอาจเจอคนมีน้ำใจลุกให้นั่งให้ลูกนั่งตักบ้าง ที่เหลือก็เบียดเสียดกันเหมือนปลากระป๋อง ไม่มีใครลุกให้ใคร คิดแล้วน่าเสียดายแทนค่ะ
เรื่อง high chair ก็เหมือนกันค่ะ ตาเป้ไม่ทราบว่าการเดินกินเป็นยังไง เพราะยี่ไม่เคยอนุญาตให้เขาเดินกิน ตั้งแต่จำความได้เขาก็ต้องนั่งเป็นที่เป็นทางเพื่อจะกินอาหารแต่ละมื้อแม้จะ เป็นมื้อเล็กๆ ก็ตาม ปัจจุบันนี้ยี่ได้อุปกรณ์เสริมที่ตกทอดมาจากพี่จิ๋มเพื่อนรุ่นพี่ที่ยี่สนิท เป็นที่นั่งที่ใช้ติดกับเก้าอี้อีกทีหนึ่ง เอาไว้ใช้เวลาไปทานอาหารตามร้านที่ไม่มีเก้าอี้เด็ก คิดว่าคงจะใช้ยาวไปจนถึงลูกอีกคนหนึ่งเลยล่ะค่ะ ไว้มีโอกาสยี่จะถ่ายรูปมาให้ดูนะคะ
เรื่องแยกห้องนอนก็เหมือนกัน ยี่เริ่มแยกให้ตาเป้นอนที่ห้องของเขาซึ่งอยู่ติดกับห้องนอนของยี่กับพี่ แฟรงค์ตั้งแต่เขาเริ่มนอนยาวตอนช่วงประมาณ 6-7 เดือน คุณพ่อคุณแม่หลายคนรวมไปถึงญาติพี่น้องของยี่ ครอบครัวทางคุณแม่ซึ่งเป็นคนไทยก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วย หรือสงสัยว่าทำไมถึงกล้า เดี๋ยวลูกไม่อบอุ่น
ยี่ได้ไตร่ตรองแล้วถ้าตาเป้อยู่รวมกันกับเราในห้องเดียวกันเขาก็จะหลับไม่ สนิท เนื่องจากพ่อแม่ยังอาจจะยังอยากอ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์หรือดูทีวี ไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องนอนตามลูกไปพร้อมๆ กัน เวลาของเด็กกับผู้ใหญ่จะต่างกัน การแยกห้องนอนจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
แล้วพอเคยชินเมื่อต้องการพ่อแม่เมื่อไร เมื่อตื่นขึ้นมาพอร้องเขาก็จะได้เจอพ่อแม่เมื่อนั้น ตอนนี้ตาเป้ก็ชินค่ะ ตื่นขึ้นมาตอน 6 โมงเช้า บางครั้งยังไม่คิดถึงเราเขาก็นอนเล่นที่เปลกับของเล่น ไม่ได้โวยวายอะไร นั่นคือความเคยชินค่ะ
แต่ถ้าจะให้แยกตอนโตคงลำบากเนื่องจากเขายังไม่ชินและเรามีทางเลือกให้เขา เลือกแล้ว ถึงใครว่ายี่ช่างจ้ำจี้จำไช้และห็นว่าเป็นเรื่องน่าขำ หรือดูว่ายี่จริงจังกับลูกเกินไป แต่ยี่ก็ยังภูมิใจและเชื่อว่ายี่เองเองก็มีวิธีของยี่ และไม่มีอะไรที่สอนแล้วเปล่าประโยชน์เลย อย่างการเก็บของเล่น ตอนนี้ตาเป้ก็เก็บของเล่นเอง โดยมียี่ ปะป๊า หรือแม่บ้านช่วยบ้าง แต่เขารู้ว่าเป็นหน้าที่ของเขารวมถึงการถอดเสื้อผ้าใส่ไว้ในตะกร้าซัก เข้าบ้านแล้วถอดรองเท้าเก็บไว้ในตู้ด้วยค่ะ ลูกคนต่อไปยี่คิดว่าจะสอนเรื่องต่างๆ เร็วขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ รวมถึงความมีวินัยและความเป็นระเบียบต่างๆ ด้วย
มารยาท และคำพูดเหล่านี้เป็นสิ่งมีคุณค่าที่จะติดตัวเขาไปตลอด ด้วยความอดทนและการสอนอย่างสม่ำเสมอ คุณก็สามารถหยิบยื่นเครื่องมือที่จะช่วยให้ลูกเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มี มายาทดี น่านับถือได้ค่ะ