เมื่อลูกเป็นเด็กขี้กลัว พ่อแม่ต้องทำอย่างไร
ความกลัวของลูก มีข้อดีอย่างหนึ่งค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเอาตัวรอดได้ ด้วยการไม่กล้าเกิน แล้วหันกลับมาตั้งหลัก คิด และพิจารณาใหม่ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแล ชี้แนะ และส่งเสริม เพื่อให้ขอบเขตของความความกลัวอยู่ในระดับพอดีและสมเหตุสมผลนะคะ
สาเหตุที่ลูกเป็นเด็กขี้กลัว
ลูกวัย 1- 3 ปี เริ่มจะใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกต่างๆ ได้บ้างแล้ว หากเขาได้เจอกับประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้บาดเจ็บ หรือทำให้รู้สึกไม่ชอบ เขาก็อาจไม่อยากทำอีก หรือกลายเป็นความกลัวได้ในที่สุด
ความกลัวของลูกวัยซนจึงเกิดได้จาก 3 สาเหตุหลักค่ะ คือ
1. ลูกจินตนาการไปเอง
ลูกวัยนี้อาจจินตนาการความกลัวจากเรื่องราวในนิทาน หรือสิ่งที่เห็นในหนังสือต่างๆ และหนังการ์ตูน เช่น เห็นเงาตะคุ่มในที่มืดๆ ก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะเด็กมักจินตนาการว่าความมืดเป็นสิ่งน่ากลัว ลึกลับ ซึ่งลูกยังไม่ได้มองโลกเหมือนผู้ใหญ่ แต่เขาจะเริ่มเข้าใจและเริ่มแยกแยะโลกจินตนาการกับโลกความจริงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยอนุบาลค่ะ
วิธีรับมือ
ก่อนอื่นคุณแม่ต้องรู้ว่าลูกจินตนาการถึงเรื่องอะไร จนกลายเป็นความกลัวได้ เมื่อรู้แล้วให้เสนอความช่วยเหลือ ให้เขารู้ว่าคุณแม่พร้อมที่จะช่วย แต่อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยในทันทีทันใดนะคะ ต้องคอยกระตุ้นให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยต้วเองให้ได้ก่อน จากนั้นก็อธิบายให้เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกกลัวนั้น จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร เพื่อให้เขามองภาพจริงออกและอาจช่วยคลายความกลัวลงได้บ้าง
2. กลัวภาพที่ไม่คุ้นชิน
ส่วนมากลูกวัย 1 ขวบ จะเริ่มเชื่อมโยงเหตุผลได้บ้าง แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงที่ไม่สมบูรณ์ค่ะ จึงอาจทำให้เขาเข้าใจอะไรบางอย่างผิดพลาดจนเกิดความกลัวฝังใจได้ เช่น เด็กบางคนไม่เข้าใจภาพที่เห็น เจอตุ๊กตาที่ขยับได้ มีเสียงร้อง ก็อาจกลัวได้ หรือแม้แต่คนใกล้ชิดอย่างคุณพ่อคุณแม่ หากเขาเห็นเราใส่ชุด หรือแต่งตัวที่ต่างไปจากความเคยชินมากๆ ลูกก็อาจมองว่าเป็นคนแปลกหน้า และรู้สึกไม่ปลอดภัยได้เหมือนกัน
วิธีรับมือ
หากลูกกลัวภาพที่เห็น ทั้งตุ๊กตาที่ขยับได้ หรือกลัวใบไม้ไหว เห็นเป็นเงาๆแล้วตกใจ ให้คุณแม่อธิบายให้เข้าใจไปตามจริงเลยค่ะ เช่น ที่หนูเห็นเป็นเงาๆ ตรงนั้น จริงๆ มันคือใบไม้ที่ขยับไปตามลม หรือถ้าลูกกลัวตุ๊กตา กลัวสิ่งของบางอย่าง ให้คุณแม่ใช้วิธีค่อยๆ ปรับให้เขาพอรับได้ ด้วยการเอาของสิ่งนั้นไปอยู่ในระยะที่ลูกพอทนได้ ถ้าเขาทนได้มากขึ้นเราก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ๆ แต่ต้องไม่เป็นการบังคับฝืนใจลูกนะคะ
3. กลัวเสียงดังเกินไป
เด็กบางคนมักปรุงแต่งเสียงที่ได้ยินว่าเป็นเสียงที่น่ากลัวได้ค่ะ โดยเฉพาะเสียงที่ดังๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความไวของการรับสัมผัสของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เช่น เด็กบางคนแค่ได้ยินเสียงคนจามก็ตกใจกลัวได้ เพราะเขาไม่สามารถแยกแยะเสียง หรือเชื่อมโยงเหตุผลได้ว่าสิ่งไหนคือเสียงที่อันตราย หรือไม่อันตราย
วิธีรับมือ
การกลัวเสียงดังๆ ของลูกอาจเป็นเพราะเขายังไม่รู้ที่มาของเสียง คุณแม่ควรเข้าไปคุยกับลูก “หนูไม่ชอบเสียงนี้เหรอคะ งั้นเราไปดูกันว่าเสียงนี้มากจากไหน” เช่น หากลูกกลัวเสียงจามดังๆ ของคุณพ่อ คุณแม่ลองอัดเทปแล้วเอามาให้เขาฟัง ค่อยๆ ปรับความดังเสียงลง ให้เบาเท่าที่ลูกจะทนไหว พอเขาเริ่มทนกับเสียงนี้ได้ และคลี่คลายได้ว่ามันไม่ใช่เสียงที่เป็นอันตราย ก็จะช่วยลดอาการกลัวของลูกได้เองค่ะ
4. กลัวเพราะเห็นผู้ใหญ่กลัว
บางครั้งความกลัวของเด็กก็เกิดจากตัวผู้ใหญ่อย่างเราค่ะ เช่น หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่วิตกกังวลกับสิ่งรอบข้างตลอดเวลา ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด มีท่าทีที่กลัวโน่นกลัวนี่ให้ลูกเห็นอยู่บ่อยๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ยอมให้ลูกออกไปไหนเลย ชอบขู่ว่าคนแปลกหน้าจะจับตัวไป ซึ่งเป็นความกังวลที่มากเกินไปค่ะ จึงมีโอกาสที่ลูกจะจำพฤติกรรมแบบนี้ของเรา จนกลายเป็นคนขี้กลัวที่อาจกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเขาโตขึ้นได้
วิธีรับมือ
คุณพ่อคุณแม่คือความมั่นใจของลูกค่ะ หากว่าเราเองยังมีทีท่ากลัวโน่นกลัวนี่ หรือเป็นคนที่วิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป ก็ยากที่ลูกจะไม่กลัวตาม ฉะนั้นสิ่งแรกที่คุณแม่จะต้องปรับอย่างเร่งด่วน ก็คือสร้างความมั่นใจให้เจ้าตัวน้อยด้วยการลดท่าทีของความกังวลลงบ้าง และพยายามให้ลูกได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ทั้งจากการดู การเล่น เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ค่ะ