ลูกอายุ 5-6 ขวบมีพัฒนาการทั้งร่างกาย สมอง และอารมณ์ดีไปถึงขั้นไหนแล้ว คุณแม่มาเช็คพัฒนาการลูกวัย 5-6 ปีได้ตรงนี้พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กค่ะ
นักจิตวิทยา เดวิด เมลตัน กล่าวว่า “ในช่วง 5 ปีแรกของลูก พ่อแม่ต้องอุทิศเวลาให้การศึกษาอบรมลูก ก่อนที่โลกภายนอก เช่น ครู เพื่อนและโทรทัศน์ จะเข้ามายึดครองลูกไว้วันละหลายชั่วโมง”
การดูแลเอาใจใส่เด็กเป็นอย่างดีในช่วงเวลาสั้นๆ จะทำให้พัฒนาไปเป็น เด็กที่ตื่นตัว อยากรู้อยากเห็น กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และเด็กจะเป็นคนที่มีความรัก ใส่ใจผู้อื่น ฉลาด และมีความคิดสร้างสรรค์จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การเจริญเติบโตของร่างกายส่วนต่างๆ จะยังไม่เท่ากัน ปอดจะยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ หัวใจจะเจริญเติบโตเร็วมาก เด็กวัยนี้ จะเต็มไปด้วยพลัง และเคลื่อนไหวมาก เพราะกล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้นพัฒนาเร็วกว่ากล้ามเนื้อมัดเล็ก
ฟันเด็กวัย 5-6 ปี จะเริ่มมีฟันแท้ขึ้น และฟันแท้ซี่แรกคือ ฟันกรามซี่ล่าง ถือเป็นฟันชุดที่ 2 หรือ ฟันแท้ ซึ่งจะขึ้นซี่แรกเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 ปี โดยขึ้นต่อจากตำแหน่งของฟันกรามน้ำนมซี่สุดท้ายเข้าไปด้านใน ส่วนฟันแท้ซี่อื่นๆ จะทะยอยขึ้นมาแทนฟันน้ำนม
ฟันกรามแท้จะมีรูปร่างคล้ายฟันกรามน้ำนม แต่ฟันกรามแท้จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ และประมาณ 6 เดือนต่อมา ฟันกรามแท้คู่บนจึงจะขึ้น ฟันกรามแท้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นฟันซี่ที่สำคัญที่สุดในการบดเคี้ยวอาหารเพราะต้องใช้เคี้ยวอาหารไปตลอดชีวิต
ฟันกรามแท้มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในวัยเรียนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อฟันกรามแท้ขึ้น เด็กบางคนจะรู้สึกเจ็บระบมที่เหงือก อาจเคี้ยวอาหารไม่สะดวก จึงทำให้เด็กเกิดการเบื่ออาหารได้
หากฟันซี่นี้ผุ เด็กมักจะมีร่างกายผอม ไม่แข็งแรง จะเจ็บคอและเป็นหวัดบ่อย ในเด็กบางคนอาจมีผลทำให้ขาดอาหารได้ เพราะใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้ไม่สะดวก เด็กจะไม่แจ่มใส จะมีผลต่อการเรียนและอนาคตของเด็ก
และฟันแท้ซี่นี้เป็นแนวทางให้ฟันแท้ซี่อื่นๆ ที่จะขึ้นต่อไป สามารถขึ้นได้ตรงตามตำแหน่ง ทำให้การสบฟันทั้งปากเป็นปกติ เป็นการป้องกันการเกิดฟันเก และฟันซ้อนในเด็ก
เมื่อเด็กมีอายุ 5-6 ปี พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูมักเข้าใจผิด เรื่องการดูแลสุขภาพภายในช่องปากของเด็ก เพราะคิดว่าเด็กสามารถช่วยตัวเองได้แล้ว จึงปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง โดยไม่ช่วยดูว่า เด็กแปรงฟันสะอาดหรือไม่ ดังนั้นจึงควรเอาใจใส่ดูแล คอยตักเตือนเรื่องการทำความสะอาดฟัน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก
ในลำดับขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของเด็กอายุ 5 -6 ปี จะอยู่ในระยะตอบสนอง (Responding Stage) มีพัฒนาการทางภาษาสูงขึ้น จากการเข้าสังคมมากขึ้น เช่น ในโรงเรียนอนุบาล เด็กจะได้พัฒนาคำศัพท์เพิ่มขึ้น รู้จักการใช้ประโยคอย่างเป็นระบบตามหลักไวยากรณ์ และการใช้ภาษามีแบบแผนมากขึ้น
พูดได้ชัดเจน และเข้าใจได้ง่ายขึ้น สนใจคำศัพท์ใหม่ๆ พยายามค้นหาความหมายของคำ โดยเฉพาะคำที่เป็นนามธรรม ด้วยการถามความหมายของคำนั้น ใช้คำถามแบบเป็นเรื่องเป็นราวและมีจุดมุ่งหมายมากขึ้น เช่น นี่เอาไว้ทำอะไร หรือ อันนี้ทำงานยังไง เป็นต้น เริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษามากขึ้น สามารถเข้าใจคำพูด ข้อความยาวๆ ของผู้ใหญ่ได้ บอกความหมายของคำนามได้จากการลงมือใช้หรือลงมือทำจริงๆ เช่น นมสำหรับดื่ม ลูกบอลเอาไว้โยน เป็นต้น พยายามพูดยาวๆ เลียนแบบผู้ใหญ่ จะพูดได้คล่องและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ แต่ออกเสียงพยัญชนะบางตัวไม่ชัด เช่น ส ว ฟ บอกชื่อนามสกุล และที่อยู่ได้ บอกได้ว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ อะไร วัยนี้ช่างเล่า ชอบเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้พ่อแม่ฟัง และชอบเล่าเรื่องที่บ้านให้ครูฟัง ชอบท่องหรือร้องเพลงที่มีจังหวะและเนื้อร้องที่มีคำสัมผัสกัน ชอบฟังและอ่านนิทาน จดจำเรื่องโปรด และแสดงท่าทางประกอบเมื่ออยู่กับเพื่อนหรืออยู่คนเดียว แม้จะพอใจที่คนอื่นอ่านหนังสือให้ฟัง แต่ก็ชอบแยกไปนั่งตามลำพังเพื่อดูหรืออ่านหนังสือตามแบบของตัวเอง ชอบเรื่องตลกขบขัน โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ที่ทำอะไรได้เหมือนกับคน ชอบฟังนิทานประเภทเทพนิยาย เริ่มเรียนรู้ทักษะทางภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาพูด ได้แก่ ภาษาอ่าน ภาษาเขียน มีทักษะด้านความจำหรือพูดโต้ตอบได้อย่างดี อาจใช้วิธีจำสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือที่เขียนเป็นคำๆ ท่องจำเลข 1-10 หรือ 1-50 ได้ แต่ขาดความเข้าใจในเรื่องการเรียงลำดับ การเพิ่มจำนวน หรือจำนวนพื้นฐาน การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กวัย 5-6 ปี
ด้วยวิธีการเชื่อมโยงจากความเข้าใจพื้นฐาน ไม่เน้นการอ่านแบบท่องจำหรือการเขียนให้ถูกต้องสวยงาม เด็กควรได้เรียนรู้เรื่องพื้นฐานระบบเสียงที่เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ ซึ่งหมายถึงการสะกดคำอย่างง่ายๆ ให้ความสำคัญในเรื่องทักษะพื้นฐานที่สำคัญทางภาษา เพื่อการเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือ จำนวนและตัวเลข ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องของจำนวนหรือตัวเลข และเรื่องการเรียงลำดับ การเพิ่มจำนวน หรือจำนวนพื้นฐาน ให้เรียนรู้หลักการของจำนวน 1-10 หรือ 20 ให้ได้ ก่อนที่จะหัดให้บวกลบเลขจากโจทย์
สมองของเด็กวัยนี้ พัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ สำหรับเด็กที่ผ่านการฝึกระเบียบและความอดทนรอคอยจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูหรือครูในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอเด็กจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดี และเมื่อเด็กเรียนรู้ จดจำประสบการณ์ในเชิงลบ ทั้งจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการถูกทำโทษ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งช่วยเตือนไม่ให้เด็กซนหรือทำผิดซ้ำอีก ดังนั้นเด็กในวัยนี้ จะซุกซนน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น
นับนิ้วจากมือข้างหนึ่งต่อเนื่องไปอีกข้างหนึ่งได้ เข้าใจเรื่องขนาดและคำที่แสดงปริมาณ จับคู่จำนวนกับสิ่งของได้ จัดแยกกลุ่มได้ตามขนาด สี รูป ร่าง และอะไรคู่กับอะไร ชอบการฝึกสมองลองปัญญา และคิดล่วงหน้าได้ เช่น คิดว่าจะต่อบล็อกเป็นรูปอะไร หรือจะวาดรูปเป็นรูปอะไร ชอบเล่นเกมต่อภาพ และสามารถต่อภาพจิ๊กซอว์ขนาด 26 ชิ้นได้สำเร็จ เข้าใจจังหวะดนตรี แสดงความสนใจในอาชีพต่างๆ เช่น อาจบอกว่า “หนูอยากเป็นหมอ” เริ่มสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่านิทานหรือเรื่องที่เคยชอบ เริ่มเรียนรู้ที่จะประสานสิ่งที่รู้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้เข้ากับประสบการณ์ที่เคยผ่านมา การส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กวัย 5-6 ปี
พูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ เล่านิทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟัง และทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเด็ก เลือกรายการโทรทัศน์ที่ช่วยเส่งเสริมความรู้รอบตัว และสร้างจินตนาการให้กับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเล่นบทบาทสมมติได้ทุกเมื่อ
เด็กเริ่มออกจากบ้านไปสู่หน่วยสังคมอื่น คือ โรงเรียน เด็กจะได้เรียนรู้การเป็นสมาชิกของกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน สัมพันธภาพที่มีต่อเพื่อนจะสอนการเป็นอยู่ในสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นจะสร้างลักษณะนิสัยการแข่งขัน และสอนให้เด็กรู้จักการร่วมมือกับผู้อื่น กลุ่มจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กในวัยนี้ ดังนั้น พ่อแม่ควรจะสนับสนุนให้เด็กได้เข้ากลุ่มที่เหมาะสมกับสภาพของตัวเอง
อยากทำให้พ่อแม่และผู้ใหญ่พึงพอใจ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อได้ดี และเชื่อฟังพ่อมากกกว่าแม่ รู้จักการให้ การรับ และการแบ่งปัน มีความอดทน รู้จักรอคอยมากขึ้น รู้จักแสดงออก แสดงความสนใจและการผูกมิตร คบหาเพื่อนได้ดี เล่นคนเดียวหรือเล่นกับกลุ่มเพื่อน 1-3 คนได้ รู้จักการเป็นผู้นำ การเสนอความคิดเห็น สนใจเรื่องสนุกขบขัน การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กวัย 5-6 ปี
ฝึกฝนระเบียบวินัย ให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันในบ้าน เตรียมความพร้อมด้านจิตใจให้กับเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เช่น หัดให้มีความอดทน รู้จักรอคอย สามารถจากพ่อแม่และอยู่กับคนที่ไม่รู้จัก ได้นานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน เตรียมความพร้อมทางร่างกาย ก่อนเด็กเข้าโรงเรียน เช่น สร้างเสริมให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงดี มีทักษะในการใช้ตาและมือขั้นพื้นฐานบางอย่าง เช่น ควรรู้จักเรื่องรูปร่าง รูปทรง สี ควรเปิดหนังสือได้ เป็นต้น เลือกโรงเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก
เด็กวัยนี้ จะยังมีความกรวนกระวายใจและรู้สึกกลัวอย่างไร้เหตุผลอยู่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
การควบคุมอารมณ์ (Impulse control) เด็กในระยะแรกเกิดจนถึงอายุ 5 - 6 ปี จะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดี รู้สึกอย่างไรจะแสดงออกทันที จึงเห็นว่าบางครั้ง เด็กเล็กๆ จะมีพฤติกรรมสลับไปมาในการแสดงออกของความรัก ความโกรธ ความเกลียด หรือ อาละวาดให้เห็นอยู่เสมอๆ
พอถึงวัย 5 - 6 ปี เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาดีขึ้น มีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ก็จะไม่แสดงออกในทันที มีภาวะสงบของอารมณ์ดีขึ้น ทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนหนังสือได้
รู้จักกลัว เช่น กลัวความสูง กลัวสัตว์ กลัวตาย เป็นต้น และสามารถอธิบายความกลัวหรือความวิตกกังวลได้ดีขึ้น สนใจเรื่องการเกิด การแต่งงาน การตาย มีความรู้สึกกลัวตาย ชอบเป็นอิสระ อยากให้ทุกคนปฏิบัติตัวเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ แสดงออกถึงความตั้งใจและมั่นใจในตัวเอง และต้องการตัดสินใจด้วยตัวเอง ยอมรับการลงโทษที่ยุติธรรม เมื่อโกรธ เหนื่อย หรือถูกขัดใจ จะอาละวาด กรีดร้อง แต่ร้องไห้น้อยลง เวลาเครียดจะชอบดึงจมูก กัดเล็บ ปิดจมูก กะพริบตาถี่ๆ สั่นหัว หรือทำเสียงเครือๆ ในคอ เป็นต้น การส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของเด็กวัย 5-6 ปี
หากเด็กวัยนี้ยังติดการดูดนิ้วหัวแม่มือ ควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กรุ่นเดียวกันหรือเด็กที่โตกว่า เพราะเด็กจะเลิกดูดนิ้วเมื่อถูกเพื่อนๆ แสดงท่าทีไม่ยอมรับหรือไม่ชอบเด็กที่ยังดูดนิ้ว ต้องช่วยส่งเสริมบทบาทของพี่ต่อน้อง จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน แบ่งปันกัน เด็กจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีปัญหาหรือมีนิสัยขี้อิจฉา แข่งขันกับเพื่อนหรือคนรัก ช่วยให้เด็กเรียนรู้ ยอมรับความจริง และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดกับทุกคน โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกกลัวตายและความตายที่เด็กกำลังกลัวอยู่ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับความตายก่อนที่เด็กจะได้สัมผัสกับความตายในชีวิตจริง และให้เด็กได้มีกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องความตาย แบบค่อยเป็นค่อยไป