ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อน ทั้งร่างกายเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กเล็กที่มารับการตรวจขา ตรวจเท้าที่ผิดปกติ หรือรูปเท้าพิการ อายุอยู่ในช่วงที่เริ่มยืนเดินแล้วตั้งแต่ 1 ขวบ ขึ้นไป จนถึงประมาณ 8 ขวบ ในวัยนักเรียนชั้นประถมต้นๆ เด็กเหล่านี้ไม่มีอาการของโรคข้อใดๆ ร่วมด้วย ไม่ปวดข้อ ข้อไม่บวม เดินวิ่งได้ตามปกติ แต่มีความพิการหรือผิดปกติของขาและเท้า ทำให้พ่อแม่กังวลและพาเด็กมาพบแพทย์ อาทิเช่น ขาโก่ง เข่าโค้ง เข่าชนกัน หรือปลายเท้าบิดออกนอก หรือบิดเข้าใน อุ้งเท้าแบนราบ นิ้วเท้าคด เป็นต้น
ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อน มีระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยถึงมาก
1. ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนอย่างเดียวไม่มีอาการอื่นๆ หรือความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ภาวะนี้จะดีขึ้นเองตามอายุ
2. ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนโดยมีอาการ หรือความผิดปกติอื่นร่วมด้วย แต่ไม่รุนแรง เด็กในกลุ่มนี้มักมีอาการปวดตามข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อตะโพก ข้อศอก และข้อไหล่ ร่วมด้วยบางรายอ่อนเพลียนอนไม่หลับ เดินเชื่อช้า กระปลกประเปลี้ย ต้องได้รับการวินิจฉัย และดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษกว่าเด็กในกลุ่มแรก
3. ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนเป็นมาก มีอาการรุนแรงหรือมีความพิการผิดรูปร่วมด้วย ซึ่งจะปรากฏเด่นชัดตอนเด็กอายุมากขึ้น เด็กเหล่านี้จะมีกลุ่มอาการที่สำคัญ ได้แก่ การผิดรูป ผิดสัดส่วนของลำตัว แขนขา มีหลังคด เท้าบิด เข่าชนกัน ขาโก่ง เข่าโค้ง มือผิดรูป ผิดสัดส่วน ข้อตะโพกอาจเคลื่อนหรือหลุด เด็กอาจมีปัญหาทางตา ปัญหาการพูดการได้ยิน อาการข้างต้นที่กล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาหลายฝ่ายร่วมกัน และมีการติดตามผลระยะยาว
ข้อหลวม เอ็นข้อหย่อนสาเหตุเกิดจาก การถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ทำให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายผิดปกติและส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของหลายโรคในเด็ก
10 อาการของความผิดปกติข้อหลวม เอ็นข้อหย่อน ที่พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กอายุไม่เกิน 8 ปี
1. เท้าปุก (CLUB FOOT)
2. เท้า / ข้อเท้า / ข้อเข่า และข้อต่อทั่วไปอ่อนปวกเปียก
3. เท้าผิดรูปที่โครงสร้างส่วนกลางเท้า(MID-FOOT)
4. ต้นขาและขาบิดคด (TWISTED LEGS) ขาโก่ง เข่าโค้ง (BOW LEGS) ร่วมกับปลายเท้าบิดเข้าด้านใน
5. เข่าชนกัน (KNOCKED KNEE) มักร่วมกับ เท้าแป (FLAT FEET) และข้อต่อทั่วร่างกายอ่อนปวกเปียก (HYPER MOBILE JOINT) มักพบในเด็กที่ยืนเดินได้แล้ว
6. อุ้งเท้าแบนราบ / เท้าแป
7. นิ้วเท้าผิดปกติ เช่น หัวแม่เท้าชี้เข้าข้างใน , หัวแม่เท้าชี้ออกนอกโดยมีปุ่มชี้เข้าข้างใน , หัวแม่เท้าชี้ออกนอกโดยมีปุ่มที่โคนนิ้วใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเจ็บ
8. นิ้วเท้าคดงอ / นิ้วเกยกัน
9. เท้าขนาดไม่เท่ากัน ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน
10. เท้าที่ขาดความรู้สึก (ANESTHETIC FOOT)
มาทดสอบความหลวมและเอ็นข้อหย่อนในร่างกายกันดีกว่า
1. ดันหัวแม่มือขวา แตะหน้าแขนได้
2 . ดันหัวแม่มือซ้าย แตะหน้าแขนได้
3.ดันหัวแม่มือซ้าย แตะหน้าแขนได้
4. ดันนิ้วก้อยข้างขวา แอ่นไปหลังมือได้เกิน 90 องศา
5. ดันนิ้วก้อยข้างซ้าย แอ่นไปหลังมือได้เกิน 90 องศา
6. ข้อศอกข้างซ้าย ในท่าเหยียดหงายมือมีลักษณะแอ่น
7. เข่าขวามีลักษณะแอ่นในท่าเหยียดขนานพื้น
8. เข่าซ้ายมีลักษณะแอ่นในท่าเหยียดขนานพื้น
9. ยืนตรงเท้าชิด ก้มแล้ววางฝ่ามือราบบนพื้นได้
หากพบว่าสามารถทำได้ 4 ใน 9 ข้อขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำวางแผนรักษาเพราะจะมีผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆเมื่อเติบโตขึ้นได้
โดย นายแพทย์ดิเรก อิศรางกูร ณ อยุธยา
ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ