เมื่อลูกถูกรังแก คนเป็นพ่อเป็นแม่คงจะไม่ยอม...และถึงแม้ต้องเตรียมทำใจว่าหลีกเลี่ยงยากอยู่เหมือนกัน แต่นี่ก็น่าจะเป็นการเตือนให้พ่อแม่เตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และไม่มองว่าการรังแกกันในโรงเรียนเป็นเพียงการเล่นซนของเด็กเช่นกัน
ถ้าลูกมีอะไรก็เล่าให้เราฟังหมด ค่อยเบาใจว่ารู้ปัญหาเร็ว ช่วยแก้ได้ทันก่อนจะลุกลาม แต่ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่แค่ลูกอ้าปากก็ว้ากใส่ก่อนแล้ว หรือพอเล่าเรื่องให้ฟังกลับถูกตีซ้ำ เด็กก็จะปิดปากเงียบ ทนเจ็บเพียงลำพังดีกว่า ถ้าปล่อยเรื้อรังอาจอันตราย คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจและให้เวลากับลูก ต้องรับฟังด้วยท่าทีสนใจและให้กำลังใจเสมอ สำหรับเด็กที่ไม่กล้าบอก ก็พอจะสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเขาได้
1.เด็กที่ถูกรังแกมักจะมีบุคลิกที่ดูบอบบาง อ่อนแอ ขี้ขลาด ขี้กังวล อ่อนไหว และขี้อาย
2.กลัวการไปโรงเรียน
3.จากที่ร่าเริงกลายเป็นเด็กที่ขี้อาย เก็บตัว ไม่พูดจา ไม่อยากเล่นกับใคร
4.ผลการเรียนตกต่ำ
5.กินน้อยหรือไม่อยากกินอาหาร
6.ร้องไห้ก่อนจะหลับเป็นประจำ
7.ไม่ค่อยมีเพื่อน
8.ทุกครั้งที่ถามว่ามีปัญหาอะไรก็จะบอกเพียงว่า "เปล่า" และอยู่ๆ ก็พูดเรื่องอยากหนีหายไปจากโลก
หากพบพฤติกรรมเหล่านี้ ลองหาวันที่สบายๆ พูดคุยกับลูกเรื่องที่โรงเรียน ถามถึงเพื่อนๆ ของลูก หากเขายังไม่ปริปากพูด ก็คงต้องเข้าไปปรึกษาไถ่ถามกับคุณครูที่โรงเรียนกันแล้ว
ช่วยลูกลุกขึ้นเมื่อถูกรังแก เมื่อรับรู้ว่าลูกมีปัญหา ถือโอกาสนี้บอกกับลูกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ต้องมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันอยู่ ลูกเป็นเด็กดี ส่วนคนที่มารังแกนั้นเป็นเด็กไม่ดี เพราะฉะนั้นอย่าแก้ไขปัญหาด้วยการทำตัวแบบเด็กไม่ดี
ดังนั้นอย่างแรกที่คุณแม่ต้องทำคือตั้งสติ ชวนลูกมานั่งวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน คิดว่านี่เป็นโอกาสทองที่ลูกจะได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กล้าเผชิญกับปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้ พ่อแม่ต้องเป็นตัวช่วยและเป็นกำลังใจให้ลูก แนะนำลูกทำวิธีนี้ โดยต้องให้ลูกลองทำเอง พ่อแม่เป็นเพียงพี่เลี้ยงก็พอ
ไม่ต้องไปใส่ใจกับเสียงหัวเราะที่เพื่อนแกล้งด่าว่าเรา เพราะการมีอารมณ์ตอบโต้เป็นอาวุธที่ดีสำหรับเด็กที่ชอบข่มขู่หรือรังแกเพื่อน พวกเขามองว่าเป็นเรื่องสนุก ถ้าทำเฉยๆ ซะให้เขาผิดหวังครั้งต่อไปก็ไม่แกล้งแล้วเพราะหมดสนุก
ไม่ต้องฟังเพื่อนที่ชอบเหน็บแนม ให้เดินหนี หรือตอบว่า "ไม่"แล้วเดินไป
ไปไหนมาไหนกับเพื่อนเป็นกลุ่มๆ อย่าแยกเดินคนเดียว
หาเพื่อนที่ไว้ใจได้ คบกันเป็นกลุ่ม เพราะการมีพวกทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่น
ถ้าถึงขั้นรุนแรงก็ควรบอกคุณครู หรือผู้ใหญ่
อย่าตอบโต้ด้วยกำลังเด็ดขาด เพราะผลจะได้ไม่คุ้มเสีย
สร้างเกราะป้องกัน ภูผาไม่หวั่นด้วยแรงลมฉันใด เด็กที่เข้มแข็งทั้งกายและใจ ย่อมไม่หวั่นต่อการถูกรังแกฉันนั้น
ในระยะยาว เด็กที่ถูกรังแกอาจกลายเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และอาจเป็นโรคซึมเศร้า จนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูจึงต้องจัดการกับปัญหานี้ตั้งแต่แรก และสอนให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมให้ได้ด้วยตัวเองไปพร้อมๆกัน ด้วยการสร้างลูกให้เข้มแข็งโดยการบ่มเพราะฮีโร่ในตัวเขาให้กลายเป็นอาวุธถาวร
เพราะเด็กที่ถูกรังแกจะสูญเสียความมั่นใจ ต้องเรียกขวัญและกำลังใจกลับมาให้เขามองเห็นคุณค่าของตนเสียก่อน ให้เขามองเข้าไปภายในและภูมิใจในความเป็นตัวเอง แม้จะตัวเล็ก ผิวดำ ผมหยิก พูดน้อย ไม่เก่งเลข เขาก็ยังเป็นลูกรักของพ่อและแม่เสมอ ชี้ให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น
แม้ปัจจุบันหลายโรงเรียนมีมาตรการในเรื่องนี้ ทั้งตักเตือน ทำโทษ ไล่ออก แต่ถ้าไม่มีการรังแกกันเกิดขึ้นเลยคงดีกว่าจะได้ช่วยลดภาวะการใช้ความรุนแรงที่ล้นโลกอยู่ในขณะนี้ได้ไม่น้อยทีเดียว
แล้วใครล่ะที่จะกอบกู้สถานการณ์โลกแห่งความรุนแรงนี้ได้ ถ้าไม่ใช่...คุณครูและพ่อแม่ ช่วยกันคนละไม้ละมือค่ะ