ทารกท้องผูก ลูกท้องผูกแต่ละวัยต่างกันอย่างไร พร้อมวิธีแก้อาการท้องผูก
อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกวัย เป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจเป็นอย่างมาก มาดูวิธีการรับมืออาการลูกท้องผูกกันค่ะ
ทารกท้องผูก ลูกท้องผูกแต่ละวัยต่างกันอย่างไร พร้อมวิธีแก้อาการท้องผูก
ทำไมทารกท้องผูก ลูกท้องผูก
อาการท้องผูกคือ อาการที่ถ่ายลำบาก อาจมีก้อนอุจจาระแข็ง ต้องใช้แรงเบ่งมาก หรือปวดเวลาอุจจาระผ่านออกมา ไม่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ และถ้าหากเกิดในเด็กแล้ว เจ้าหนูก็จะกลัวการถ่ายอุจจาระ เพราะว่าก้อนอุจจาระแข็ง ตอนเบ่งอาจทำให้รูทวารฉีกขาดได้ โดยปกติแล้วลำไส้ใหญ่ จะมีหน้าที่ดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย หากอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน อุจจาระจะถูกดูดน้ำจนแข็งและแห้ง เวลาถ่ายยิ่งจะเจ็บมากขึ้นตามลำดับ เวลาปวดท้องเด็กก็จะอั้นไว้ก่อน เพราะกลัวว่าอึแล้วจะเจ็บ ก็เป็นวงจรวนไป
ลูกแต่ละวัยท้องผูกต่างกันอย่างไร
- ทารกแรกเกิด - 1 เดือน : หากมีอาการท้องผูก อาจมีสาเหตุจากตัวลำไส้ใหญ่ของเด็กมีปัญหา เช่น ระบบประสาทในลำไส้เจริญผิดปกติ คุณแม่ควรพบคุณหมอเพื่อหาทางรักษา
- อายุ1 เดือน - 6 เดือน : มักจะมีปัญหาท้องผูกน้อย สำหรับเด็กที่กินนมแม่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาท้องผูก
- อายุ7 เดือน - 1 ปี : หากลูกกินนมผสมอาจจะเริ่มมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนสูตรนม ซึ่งวัยนี้เริ่มกินอาหารเสริมแล้ว คุณแม่ควรเพิ่มผักและผลไม้เข้าไปในเมนูอาหารเสริม
- อายุ1 ปี - 3 ปี : สำหรับวัยนี้ สาเหตุมักจะมาจากนิสัยการกินของตัวเด็กเอง กินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกายและมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ดูแลลูกท้องผูก นอกจากการใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการแล้ว การปรับพฤติกรรมจะช่วยลดอาการท้องผูกได้ยั่งยืนกว่า
อาหารและเครื่องดื่มช่วยแก้อาการทารกท้องผูก ลูกท้องผูก
-
ดื่มน้ำเพื่อให้อุจจาระอ่อนตัวช่วยลดอาการท้องผูกได้ โดยเฉพาะในตอนเช้า ทุกๆเช้าหลังตื่นนอนประมาณ 1 ถึง 2 แก้วจะช่วยได้
-
ดื่มน้ำลูกพรุนสกัด เด็กเล็กอาจผสมกับนมผงที่กินประจำให้กินได้ ลูกพรุนช่วยในการขับถ่ายเป็นอาหารที่มีกากใยมาก ช่วยลดอาการท้องผูกได้
-
กินมะละกอสุก เป็นการช่วยลดอาการท้องผูกได้ หรือการดื่มน้ำผักหรือผลไม้ปั่นช่วยลดอาการท้องผูกได้
วิธีแก้อาการทารกท้องผูก ลูกท้องผูก
- นั่งลงในอ่างน้ำอุ่นแช่ประมาณ 5 นาทีหลังถ่าย จะช่วยในการลดอาการปวดรูทวารจากการถ่ายอุจจาระที่แข็งได้ หรือฝึกให้เด็กขับถ่ายให้เป็นเวลาตอนเช้าหลังตื่นนอนก็ได้ และให้สม่ำเสมอ
- วิธีสวนถ่าย โดยการใช้สบู่เหลาเป็นแท่งเล็กมนๆ สอดใส่เข้าไปในทวารสำหรับเด็กทารก ใช้ในกรณีถ่ายไม่ออกหลายวัน และควรต้องพาไปพบแพทย์หากเด็กเป็นบ่อยๆ