6 ปัญหาเท้าผิดรูปในเด็กทารก ที่พ่อแม่ต้องสังเกตและรับรักษาอย่างถูกต้อง
เท้าของลูกทารกเป็นอีกหนึ่งสิ่งพ่อแม่ต้องสังเกตนะคะ เพราะมี 6 อาการเท้าผิดรูป ที่ผิดปกติและต้องรีบรักษาก่อนส่งผลกระทบกับพัฒนาการทารกค่ะ
6 ปัญหาเท้าผิดรูปในเด็กทารก ที่พ่อแม่ต้องสังเกตและรับรักษาอย่างถูกต้อง
เท้า อวัยวะสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ
เท้าประกอบด้วยนิ้วเท้าและตัวเท้า นิ้วเท้าแต่ละเท้าจะเรียงจากใหญ่ไปเล็ก มีจำนวน 5 นิ้วเท่ากับนิ้วมือ ส่วนตัวเท้าจะมีรูปร่างรี ๆ อาจมีความโค้งเล็กน้อยทางขอบเท้าด้านในหรือส่วนที่เรียกว่าอุ้งเท้า ส่วนขอบเท้าด้านนอกต้องตรง
เท้าของคนเราจะประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นได้หลายทิศทาง ความยืดหยุ่นนี้เอง ทำให้เกิดความนุ่มนวลเวลาเดิน แรงกระทบต่าง ๆ ที่เท้าจะกระจายได้สม่ำเสมอทั่วทั้งเท้า ไม่เป็นจุดกดเจ็บ ส่วนของเท้าต่อกับหน้าแข้งบริเวณข้อเท้า การทำงานของเท้าที่ดีจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ดีของข้อเท้าร่วมด้วย
การเดินของคนเรา อาศัยการสั่งงานจากสมอง ส่วนของเท้าทั้งหมด จะทำหน้าที่เคลื่อนไหว และช่วยกันรับน้ำหนักตัวเวลายืน เดิน วิ่ง และกระโดด หากการเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ ในเท้าและข้อเท้าไม่ดี มีข้อยืด แต่เท้าก็ยังพอจะช่วยรับน้ำหนักตัวได้ ความนุ่มนวลในการเดินจะเสียไป ทำให้เดินได้ไม่สวย การกระจายของแรงไปยังส่วนต่าง ๆ ของเท้าไม่สม่ำเสมอ เป็นที่มาของอาการเจ็บเท้าได้
6 ปัญหาเท้าผิดรูปในเด็กทารก
- ทารกนิ้วเท้ามีลักษณะเกหรือเอียงไป นิ้วเกหรือนิ้วงุ้ม มักเกิดกับนิ้วนางและนิ้วก้อย ถ้าสังเกตดูเท้าของคุณพ่อคุณแม่ก็อาจพบลักษณะแบบเดียวกัน เนื่องจากมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยทั่วไปนิ้วจะงอค่อนข้างมากในช่วงแรกเกิด แต่จะค่อย ๆ งอน้อยลงเมื่อโตขึ้น และมักไม่มีผลเสียอะไรชัดเจน
การรักษาเป็นการสังเกตอาการเป็นส่วนใหญ่ ไม่พบว่าการตามนิ้วจะทำให้นิ้วหายดีกว่าการค่อย ๆ สังเกตอาการไป มีน้อยคนมากที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วนิ้วยังผิดรูปมาก และเดินเจ็บจนอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด
- ทารกนิ้วเท้าอาจมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าละ 5 นิ้ว ปกตินิ้วที่ขาดไปมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร และสังเกตเห็นได้ยาก แต่นิ้วที่เกินอาจเบียดกันในรองเท้า และทำให้เจ็บนิ้วเท้าได้ ปัญหาเรื่องรองเท้าบีบแก้ไข โดยใส่รองเท้าที่หัวกว้าง แต่ในบางคนส่วนเกินมีมาก แม้ใส่รองเท้าหัวกว้างก็ยังเจ็บ อาจต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดนิ้วส่วนที่เกินออก
- ทารกนิ้วเท้าติดกัน มักไม่เป็นปัญหา หากนิ้วเชื่อมติดกันตลอดทั้งนิ้ว แต่หากมีส่วนของนิ้วที่เป็นร่องระหว่างกันเหลืออยู่ ก็จะทำให้ทำความสะอาดร่องนิ้วเท้าลำบาก มีสิ่งสกปรกหมักหมมได้ การรักษาใช้การผ่าตัดแยกนิ้ว
- ทารกเท้ากระดกขึ้นและบิดออกข้าง เป็นลักษณะของเท้าผิดรูปที่พบบ่อยที่สุด คือหลังเท้าจะวางแนบไปกับกระดูกหน้าแข้ง พบบ่อยในเด็กท้องแรก เชื่อว่าเป็นจากการที่มดลูกของแม่ยังไม่เคยขยายตัวมาก่อน เมื่อเด็กโตขึ้น การขยับตัวลำบาก เพราะถูกเบียดอยู่ในมดลูกเท้าไปยันกับผนังมดลูกอยู่หลายเดือน เมื่อคลอดออกมาเท้าจึงมีการกระดกผิดรูปค้างอยู่ ความผิดปกตินี้ดูน่าตกใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาก แต่ยังโชคดีที่หลังคลอด เท้าได้มีโอกาสขยับได้เต็มที่ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก็จะค่อย ๆ หายได้เอง
- ทารกเป็นโรคเท้าปุก เป็นโรคของเท้าที่พบบ่อยคือ ส้นเท้ามีลักษณะบิดเข้าในขอบข้างของเท้าได้มาก และเท้าอยู่ในท่าเขย่ง เมื่อจับเท้าขยับดูจะพบว่าขยับเท้าได้ยาก เพราะข้อต่าง ๆ จะยืดตั้งแต่ปลายเท้าถึงข้อเท้า โรคนี้อาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยโรคนี้ได้แล้ว ควรมองหาว่ามีโรคอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่
โชคดีที่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการค่อย ๆ ดัดเท้าผู้ป่วยแล้วใส่เฝือก ได้ผลดีมาก ข้อสำคัญต้องเริ่มรักษาตั้งแต่อายุน้อย ๆ เริ่มรักษาได้ตั้งแต่เกิดมาวันแรก บางคนเริ่มรักษาช้าก็ยังรักษาได้ แต่อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด โรคนี้มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุธรรม หากพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป
- ทารกเป็นโรคเท้าโค้ง เกิดจากส่วนครึ่งหน้าของเท้าโค้งเข้า เมื่อมองเท้าจากด้านฝ่าเท้า จะเห็นขอบข้างของเท้าโค้ง หากเป็นไม่มากนัก ลองเอามือดัดดู อาจพบว่าเท้าถูกดันไปอยู่ในแนวตรงได้ ส่วนในเด็กกลุ่มที่มีอาการไม่มาก เมื่อสังเกตอาการไป เท้าอาจค่อย ๆ ตรงได้เองใน 6-12 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงไม่สามารถดัดเท้าให้ตรงได้ ควรรักษาโดยการใส่เฝือก เด็กที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเล็ก มักหายดีโดยไม่ต้องผ่าตัด และโรคนี้อาจพบร่วมกับข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด จึงมีความสำคัญที่จะต้องตรวจร่างกายส่วนสะโพกให้ละเอียด หากไม่แน่ใจผลการตรวจควรตรวจอัลตร้าซาวนด์ของสะโพกร่วมด้วย
ทารกเท้าผิดรูปบอกอะไรอีก
เนื่องจากสมองเป็นตัวที่ควบคุมการทำงานของเท้า หากระบบประสาทและสมองผิดปกติ อาจเห็นได้จากความผิดรูปของเท้าได้ด้วย โรคทางสมองที่ทำให้เกิดการเขย่งของเท้าได้บ่อยคือโรคสมองพิการ ซึ่งพบบ่อยในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดลำบาก เด็กกลุ่มนี้มักจะเดินช้า ตัวเกร็ง และอาจมีอาการกระดูกหรือชัก หากมีอาการเช่นนี้ ควรพบแพทย์ทางระบบประสาทเพื่อรักษาอาการทางสมองก่อน เพราะการแก้ไขปัญหาของเท้าสามารถทำได้ภายหลัง
จะเห็นได้ว่าโรคของเท้ามีหลากหลาย โรคต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด ทำให้ป้องกันลำบาก แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง หรือรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ข้อสำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ คุณพ่อคุณแม่ที่เคยป่วยเป็นโรคของเท้าตั้งแต่เด็ก ควรนำลูกมาตรวจเท้าตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ หากตรวจพบความผิดปกติ จะได้รีบให้การรักษาทันท่วงที