โรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็ก เป็นโรคพิการแต่กำเนิดชนิดหนึ่งซึ่งปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้ อาการเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร มาอ่านกันค่ะ
โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เหมือนโรคอื่น ๆ และเด็กที่เป็นโรคนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติหากได้รับการดูแลที่ดี ซึ่ง นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด สถาบันโรคหัวใจโรงพยาบาลราชวิถี มีคำแนะนำดังนี้
โรคลิ้นหัวใจรั่วในเด็กพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หากเฉลี่ยจากเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกประมาณ 1,000 คน จะมีเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 คน และใน 8 คนนี้จะเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิดประมาณ 5%
ลิ้นหัวใจของคนเรา จะทำหน้าที่เป็นเหมือนวาล์วเปิด-ปิดก๊อกน้ำ ซึ่งเปิดเมื่อเลือดไหลผ่านและจะปิดเพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เด็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว วาล์วเปิด-ปิดจะทำงานไม่ปกติ เลือดจึงไหลย้อนกลับทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และเหนื่อยง่ายขึ้น
บางกรณีอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ แต่กุมารแพทย์ที่ตรวจในช่วงแรกๆ ที่พาเด็กไปฉีดวัคซีน อาจจะได้ยินความผิดปกติ เช่น เสียง ฟู่ๆ ซึ่งไม่ควรมีในเด็ก ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะทำการเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือเอคโคคาร์ดิโอแกรม หรือเรียกว่าการอัลตร้าซาวน์หัวใจ ผนังหัวใจ ลิ้นหัวใจ ซึ่งไม่เจ็บเพราะทำผ่านผนังหน้าอก
กุมารแพทย์โรคหัวใจจะตรวจดูความผิดปกติและฟังเสียงหัวใจ ถ้ามีเสียง ‘เมอเมอ (Murmur)’ หรือ ‘ฟู่’ แสดงว่าหัวใจผิดปกติ แพทย์จะตรวจอย่างละเอียด ด้วยการทำเอคโค่ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถบอกลักษณะความรุนแรงของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด
หลังจากนั้น แพทย์จะวางแผนการรักษาต่อไปตามความเหมาะสม ด้วยยา เพราะการซ่อมลิ้นหัวใจในเด็กทำได้ยาก แต่ถ้าจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมลิ้นหัวใจ แต่หากลิ้นหัวใจมีพยาธิสภาพจนไม่สามารถซ่อมได้ ก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจต่อไป
ถ้าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดจากความพิการแต่กำเนิดจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อรูมาติก สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาโรคติดเชื้อในลำคอให้หายเป็นปกติ ด้วยการทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์