แง้มโลกเด็กออทิสติก เพื่อรู้จักและดูแลอย่างถูกต้อง
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์ นักพฤติกรรมบำบัด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และศูนย์วิจัยเมืองโอคแลนด์ สหรัฐอเมริกา, ครูมอส อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นักศิลปะบำบัดประจำโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ และครูภานุ เจริญเสริมสกุล ครูใหญ่บ้านครูภานุ
ด้วยรักและเข้าใจ...ออทิสติก
มีคำกล่าวหนึ่งที่ดิฉันจำได้ขึ้นใจ “…เด็กทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เหมือนดอกไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ ต่างสี ต่างรูป แต่ล้วนให้ความงดงามแก่โลกทั้งสิ้น...
และต้องการการเลี้ยงดูด้วยความรักและเข้าใจจากพ่อแม่และสังคมรอบข้าง เพื่อจะได้เติบโตอย่างแข็งแรง แตกเมล็ดพันธุ์น้อยๆ และรังสรรค์ความงดงามให้โลกสืบไป…”
เด็กออทิสติก...คือหนึ่งในเหล่าดอกไม้หลากหลายพันธุ์นั้น ที่เกิดมาเพื่อมอบความงดงามให้โลกใบนี้เช่นกันและเรื่องราวนับแต่ตัวอักษรต่อไปนี้ คือความงดงามดังกล่าวค่ะ
* สถิติของเด็กที่เป็นออทิสติกทั่วโลก คือ 1 : 200 คน แต่ในอเมริกาและยุโรปเด็ก 1 : 100 คนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก และเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 4 เท่า
* นักวิจัยในนิวยอร์กระบุว่าเด็กผู้หญิงที่เป็นออทิสติกเกิดขึ้น 1 ใน 5 คน โดยแสดงอาการน้อย และถ้าได้รับการบำบัดแล้วจะมีพัฒนาการดีขึ้นเร็วกว่าเด็กผู้ชาย
* ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย สเปน ฝรั่งเศส รวมถึงประเทศในทวีปยุโรปเหนือเกือบทุกประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับออทิสติกเท่าๆ กับปัญหาสังคมร้ายแรง โดยรัฐฯ ให้การสนับสนุนมอบสิทธิพิเศษ เช่น เรียนฟรี รักษาบำบัดฟรี เป็นต้น แก่เด็กออทิสติก
* ในประเทศไทย ออทิสติก และเด็กที่มีความต้องการพิเศษยังไม่ได้รับความสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม
ยีน (Gene) ออทิสติก
นักวิจัยทั่วโลกให้ความสนใจ โดยพยายามศึกษาวิจัยเพื่อค้นหายีนที่อาจทำให้รู้ถึงสาเหตุของออทิสติกว่า เกิดจากอะไร ซึ่งหากมีผลพิสูจน์ออกมาได้สำเร็จก็เท่ากับว่าทราบถึงภาวะออทิสติกได้ ตั้งแต่ในครรภ์
ศูนย์วิจัยทั่วโลกจึงได้นำตัวอย่างยีนและเลือดที่ได้จากครอบครัวหลายๆ ครอบครัวเพื่อมาตรวจ DNA แล้วแจกจ่ายไปตามศูนย์วิจัยทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็ศึกษากันคนละเรื่องเพื่อจะหาว่ามียีนตัวไหนบ้างที่บอกได้ ว่าเป็นออทิสติก จากการวิจัยสามารถจำแนกยีนออกมาได้แล้วประมาณ 60 ตัวที่มีแนวโน้มเชื่อมโยงกับออทิสติก แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน
ออทิสติกเป็นภาวะที่เป็น spectrum คือมีความหลากหลายของการแสดงออกหรืออาการต่างๆ คนที่เป็นออทิสติกจึงไม่ได้มีลักษณะตายตัวอย่างเดียวที่เป็นตัวบ่งชี้ เพียงแต่จะมีอาการที่บ่งบอกความเป็นออทิสติกแสดงอยู่ด้วยเท่านั้น
สาเหตุจึงไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว แต่มาจากหลายๆ สาเหตุที่อาจเชื่อมโยงกัน ส่วนระดับความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับว่ายีนนั้นได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น จากวัคซีน สารเคมี หรือสภาพแวดล้อมภายนอก และสาเหตุที่เกิดจากการคลอด เป็นต้น
ใช้ความรักและเข้าใจบำบัด
แม้ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุว่าออทิสติกรักษาหายได้ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ทันทีเมื่อรู้ว่าลูกเป็นออทิสติก ก็คือการบำบัด ซึ่งยิ่งเริ่มเร็วมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้อาการของลูกดีขึ้นและใช้ชีวิต ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นมากเท่านั้น
ปัจจุบันมีวิธีบำบัดหลากหลาย แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลูก และเน้นการบำบัดแบบองค์รวม หรือที่เรียกว่าสหเวช เป็นหลักเพราะไม่มีการบำบัดแบบใดแบบหนึ่งที่จะได้ผลดี แต่ต้องผสมผสานและทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอไปด้วยกัน
1. การบำบัดหลัก
คือการฝึกทักษะ 5 อย่างโดยรวม ได้แก่ การฝึกสมอง การเข้าสังคมและควบคุมอารมณ์ตัวเอง การสื่อสารและภาษา การควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการช่วยเหลือตัวเองในสังคม
2. การบำบัดทางเลือก
จะช่วยเสริมให้การบำบัดหลักนั้นเป็นไปอย่างสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจมาก ขึ้น ซึ่งทั้งศิลปะบำบัดและดนตรีบำบัดเป็นศาสตร์แห่งการบำบัดที่ได้รับการยอมรับ และให้ผลดีที่สุด
3. ครอบครัวบำบัด
การบำบัดทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดผลดีไม่ได้เลย หากไม่มีคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวที่คอยสนับสนุนและทุ่มเทความใส่ใจ โดยมีหลักสำคัญที่ต้องยึดไว้เสมอ
เช่น
* เข้าใจลูก
ต้องเข้าใจว่าลูกของเราเป็นคนอย่างไร ลูกเราชอบอะไร เก่งและไม่เก่งอะไร เวลาเขาร้องไห้ เขาร้องไห้เพราะอะไร รวมถึงอารมณ์ต่างๆ ที่ลูกแสดงออกนั้นเขาต้องการสื่อสารอะไรกับเรา หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ได้แล้ว ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำให้เชื่อมกับลูกได้
*ไม่เครียด
ความเครียดบางครั้งก็บังคับไม่ให้เกิดได้ยาก แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามแสดงออกให้น้อยที่สุด เพราะหากลูกเห็นสีหน้า ท่าทางของเรา เขาก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัยและวิตกตามสิ่งที่เห็นได้