หัวใจของคนเป็นพ่อแม่แทบจะสลาย ที่ลูกวัยไม่ถึง 2 ขวบร้องไห้เสียงดัง จนหน้าเขียวและนิ่งไป แม้ใครๆ จะบอกว่าก็แค่
ร้องกลั้น ไม่อันตรายหรอกก็ตาม
ร้องกลั้น จะพบบ่อยในลูกน้อยวัย 8 เดือน - 2 ขวบที่ร้องไห้ แล้วหยุดหายใจไปชั่วขณะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปากเขียว ตัวเขียวและหมดสติไปสักพัก (ไม่เกิน 1 นาที) โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น บาดเจ็บ ถูกขัดใจ การเลี้ยงดู ที่เจ้าตัวเล็กค้นพบว่าทำแบบนี้ทีไร พ่อแม่ก็ตามใจทุกที เด็กจึงคงพฤติกรรมนี้ต่อไป
แม้อาการร้องกลั้นสามารถพบได้ปกติในเด็กวัยนี้ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของลูกน้อย (ยกเว้นเด็กโรคหัวใจ) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่คุณแม่จะปล่อยปละละเลยได้ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเมื่อลูกร้องกลั้นคือ
- ตั้งสติและทำใจให้สงบไว้ก่อน มั่นใจได้ว่าอาการนี้ไม่ทำให้ถึงชีวิตแน่นอน แล้วก็ค่อยๆ หาทางรับมือต่อไป
- การกอดสัมผัสเพื่อปลอบโยนเจ้าตัวเล็กช่วยได้ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจและช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกที่กำลังร้อง เช่น ของเล่น ชวนคุยชมนกชมไม้ ไม่ควรห้ามหรือขัดใจลูกตรงๆ อย่างเด็ดขาด
- อย่าทะเลาะกันเอง ประมาณว่า "ดูสิเธอขัดใจ ลูกเลยเป็นแบบนี้" นอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าดูเลย
- ห้ามเขย่าลูก เพื่อให้ลูกฟื้นไม่ใช่วิธีที่ดีอย่างแน่นอน แถมยังอาจทำให้ลูกเจ็บด้วย
เด็กวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่กำลังพัฒนาเรื่องของการควบคุมตนเอง ทั้งอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำได้ คือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจลูกวัยซน และสอนให้ลูกเรียนรู้สิ่งเหล่านี้
- สอนทักษะสังคม วัยนี้ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของการส่งเสริมทักษะสังคมจากพ่อแม่มากที่สุด การไม่ไห้เล่นกับเด็กคนอื่น เพราะนิสัยไม่ดี หรือกลัวทะเลาะกัน อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนักสำหรับการส่งเสริมทักษะสังคมให้ลูก ลองเปลี่ยนเป็นการค่อยๆ สอนให้ลูกเรียนรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น เอาตุ๊กตามา 2 ตัว แล้วสอนว่าลูกจะมีวิธีแก้ความขัดแย้งอย่างไรให้ลูกจะดีกว่า
- พ่อแม่อย่ารังแกหนู บางทีอาจค้นพบหนทางในการแก้ปัญหาของลูกได้ ด้วยการจะรับฟังเสียงจากคนรอบข้างถึงพฤติกรรมของลูกบ้าง
- หาความรู้อยู่เสมอ การเลี้ยงลูกเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องหาความรู้บวกกับการลงมือปฏิบัติ การปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้รู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามอาการร้องกลั้นของเด็กวัยนี้ มักจะหายได้เองภายใน 2 ขวบ ถ้าเกินกว่านี้อาจแปลว่าคุณพ่อคุณแม่รับมือลูกผิดวิธี คงต้องรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อแก้ปัญหา
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนารูปแบบการอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กไทย แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)