ภาวะทารกตัวเหลืองหลังคลอดเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ พ่อแม่มือใหม่ต้องดูแลอย่างไร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคลินิกกุมารเวช รพ.กรุงเทพ มีคำแนะนำเกี่ยวกับภาวะทารกตัวเหลืองหลังคลอด มาบอกค่ะ
ทารกตัวเหลือง วิธีดูแลทารกตัวเหลืองที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้
ภาวะทารกตัวเหลืองหลังคลอดคืออะไร
ภาวะทารกตัวเหลืองหลังคลอด คือ ภาวะที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ บิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง โดยมีตับเป็นอวัยวะสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสารสีเหลืองนี้ เพื่อขับออกทางท่อน้ำดี โดยออกมากับอุจจาระ และขับออกมาทางปัสสาวะด้วย
สาเหตุที่เด็กแรกเกิดตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองปกติที่ไม่ใช่โรค (physiological jaundice) พบเป็นส่วนใหญ่ในทารกหลังคลอด เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าทารกหลังคลอด เม็ดเลือดแดงส่วนเกินนี้จะถูกทำลาย สารฮีมภายในถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบิน แม้ทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ประมาณ 50-60% ก็อาจมีภาวะตัวเหลืองได้ตั้งแต่อายุ 2-3 วัน และมักจะหายเหลืองเมื่อมีอายุ 5-7 วัน
วิธีสังเกตว่าลูกตัวเหลืองหรือไม่
- ภาวะตัวเหลืองของทารกบางคนเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง
- กรณีที่ไม่แน่ใจให้ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็ก เมื่อปล่อยมือควรจะเห็นสีขาวซีดกลับเห็นเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นชัดเจนที่บริเวณใบหน้าลงมาจนถึงท้อง ควรพามาพบแพทย์ ไม่แนะนำให้นำทารกไปผึ่งแดด หรือให้ทารกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อรักษาเรื่องภาวะตัวเหลือง
ภาวะทารกตัวเหลืองที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
- หมู่เลือดของคุณแม่และทารกไม่เข้ากัน มักพบในคุณแม่หมู่เลือดโอ และทารกหมู่เลือด เอ หรือ บี หรือคุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ โดยที่ทารกมี Rh บวก
- ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือขาดเอนไซม์บางอย่างในเม็ดเลือดแดง เช่น G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกทำลายง่าย
- ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน
- ทารกมีเลือดออกหรือเลือดคั่งเฉพาะส่วน เช่น ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ ทารกหน้าคล้ำหลังคลอด เป็นต้น
- การติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมักมีอาการซึม ไม่ดูดนม อาจท้องอืด อาเจียน มีไข้ หรือไม่มีก็ได้ ฯลฯ
สาเหตุอื่น ๆ ที่เด็กแรกเกิดตัวเหลือง
- โรคบางอย่างทำให้ทารกมีภาวะตัวเหลืองนาน เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ทารกที่มีการทำงานของตับไม่ดี เช่น ตับอักเสบ
- โรคอื่น ๆ ที่พบน้อยมาก เช่น มีการอุดตันของท่อน้ำดี สารสีเหลืองจึงขับออกมาไม่ได้
- ทารกคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากตับทำงานได้ไม่ดีเท่าทารกที่คลอดครบกำหนด จึงอาจพบภาวะตัวเหลืองได้สูงกว่าปกติ
อันตรายจากบิลิรูบินที่สูงเกินไป รูบิลินจะผ่านเข้าสู่สมองไปจับกับเซลล์สมองอาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ซึมไม่ดูดนม ร้องเสียงแหลมชักเกร็ง หลังแอ่น ทารกมีปัญญาอ่อน พิการหูหนวกตามมาได้
การรักษาเด็กแรกเกิดตัวเหลือง
- การส่องไฟ โดยใช้หลอดไฟพิเศษ ที่ให้แสงสีฟ้า ขณะฉายแสงจะถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และแพทย์จะตรวจเลือดดูระดับสารสีเหลืองเป็นระยะ ๆ จนลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยปกติแล้วผลเสียของการส่องไฟมีเพียงอาจทำให้ขาดน้ำ น้ำหนักลดบ้าง เนื่องจากร่างกายจะเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากการส่องไฟเท่านั้น
- การเอาเลือดเด็กทารกที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวเด็กและเติมเลือดอื่นเข้าไปแทนจะ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ทารกตัวเหลืองมากส่องไฟแล้วไม่ดีขึ้นจนเกรงว่าอาจเป็นอันตรายต่อสมองได้ หรือทารกเริ่มมีอาการแสดงทางสมองแล้ว เพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว
รักลูก Community of The Experts
คลินิกกุมารเวช รพ.กรุงเทพ